Page 1 of 1

ของจริง-ของปลอมกับบทบาทกสทช.

Posted: 12 Apr 2013, 14:51
by brid.ladawan
ของจริง-ของปลอมกับบทบาทกสทช.
« on: November 30, 2012, 04:41:09 pm »

ของจริง-ของปลอมกับบทบาทกสทช.


คำว่า "ปลอม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุไว้ว่า "ทําให้เหมือนคนอื่นหรือสิ่งอื่น เพื่อให้หลงผิดว่าเป็น คนนั้นหรือสิ่งนั้น เช่น ปลอมตัว หรือไม่แท้หรือไม่จริงตามสภาพของสิ่งนั้น เช่น ฟันปลอม ผมปลอม" ดังนั้นโทรศัพท์มือถือทั้ง 280 รุ่นที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่ง 27 บริษัทผู้นำเข้าให้ทำลายทิ้งภายใน 30 วัน คงจะเรียกว่ามือถือ "ปลอม" ไม่ได้ เพราะโทรศัพท์เหล่านั้นไม่ได้ผลิตลอกเลียนแบบ หรือผลิตขึ้นโดยให้หลงเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่นๆ

แต่ถ้าจะให้นิยามกันจริงๆ จังๆ ก็ต้องเรียกว่า "มือถือไร้มาตรฐานความปลอดภัย" เพราะจุดใหญ่ใจความที่ถูกสั่งห้ามนำเข้าและต้องทำลายทิ้งในทันทีนั้น เป็นเพราะผู้ผลิต (ทั้งหมดจากโรงงานในประเทศจีน) สร้างหลักฐานผลการทดลองความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการ "ปลอม" ขึ้นมาเพื่อใช้ยื่นประกอบการขายสินค้าให้ดูดีมีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือแก่ ผู้บริโภค

ในประเด็นนี้โทรศัพท์มือถือจึงไม่ใช่ "ของปลอม" แต่ "มีการสร้างหลักฐานปลอม" ใช้สนับสนุน และทำให้คิดต่อไปได้ว่าผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 27 ราย "ไม่ทราบข้อมูล" โดยบริสุทธิ์ใจ หรือแกล้งปิดตาข้างหนึ่งเพื่อให้มองไม่เห็นจุดด้อยของโทรศัพท์มือถือไร้ มาตรฐานเหล่านี้ ที่มีราคาถูกและต้องตาต้องใจคนไทยที่นิยมของถูกโดยไม่ค่อยคำนึงถึงมาตรฐาน ความปลอดภัยอะไรนัก

กสทช.ออกประกาศเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ให้ผู้นำเข้าส่งเอกสารชี้แจงต่อ กสทช.ภายใน 30 วัน เพื่อแก้ข้อกล่าวหา และรักษาสิทธินำเข้าโทรศัพท์มือถือทั้ง 280 รุ่นนั้นต่อไป แต่มีเงื่อนไขว่าผู้นำเข้าทั้ง 27 รายจะต้อง "ทำลาย" โทรศัพท์มือถือที่นำเข้ามาก่อนวันที่ 20 มิถุนายนทั้งหมด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้ มีผลใช้บังคับ แล้วแจ้งให้สำนักงาน กสทช. ทราบพร้อมหลักฐาน

ทั้งระบุด้วยว่าผู้นำเข้าจะต้องให้บริการบำรุงรักษาแก่ผู้บริโภคที่ซื้อโทรศัพท์มือถือเหล่านั้นต่อไป

ปัจจุบันมีปริมาณการนำเข้าโทรศัพท์มือถือเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 16 ล้านเครื่อง ส่วนโทรศัพท์มือถือที่พบว่ามีการใช้เอกสารปลอมมีทั้งหมด 280 รุ่น จาก 27 บริษัท ประกอบด้วย รุ่น "อาม่า" กับ "อาม่า พลัส" ของ บริษัท มีเดีย อินฟินิตี้ จำกัด และโทรศัพท์มือถือยี่ห้อเอ็มทีเอ็ม (MTM) พบแปลงเอกสาร 45 รุ่น และของบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ในรุ่นเจโฟน 8 รุ่น ส่วนบริษัท ทีดับบลิวแซด จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ พบว่ารุ่น โฟนวันมี 29 รุ่นที่เป็นเอกสารปลอม

การผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือปลอมและไร้มาตรฐานคุณภาพนั้นไม่ใช่ปัญหา เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างหาทางแก้ไขกันมาโดยตลอด

นายไมเคิล มิลลิแกน เลขาธิการใหญ่ที่ประชุมผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ (เอ็มเอ็มเอฟ) กล่าวว่า การลักลอบจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ "ปลอม" ในโลกนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีการประเมินการผลิตโทรศัพท์มือถือปลอมเหล่านี้มากกว่า 200 ล้านเครื่องต่อปีในปัจจุบัน

นอกจากนั้นการผลิตโทรศัพท์มือถือปลอมยังคงทำได้เหมือนกับของจริงมากยิ่งขึ้น ทุกวัน ทั้ง รูปลักษณ์ ฉลากต่างๆ รูปทรง และแพ็กเกจ ทำให้ยากต่อการแยกแยะว่าเป็นของจริงหรือของปลอม ดังนั้นเพื่อช่วยให้การแยกแยะโทรศัพท์มือถือปลอมนั้นทำได้ง่ายขึ้น เอ็มเอ็มเอฟจึงได้จัดตั้งเว็บไซต์กลาง www.spotafakephone.com ที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือของจริง หลีกเลี่ยงการซื้อโทรศัพท์มือถือปลอมให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลกได้ใช้งานกัน

แต่ในกรณีล่าสุดของประเทศไทยนั้น ไม่ใช่การปลอมโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นการฉ้อฉลของผู้ผลิตที่สร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา ทำให้การตรวจสอบของผู้บริโภคนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ และต้องพึ่งพากลไกของรัฐ และหน่วยงานกำกับดูแลผลประโยชน์ผู้บริโภคเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบคุณภาพแทนผู้บริโภคตาดำๆ

ก่อนหน้านี้ผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าราคาถูกต้องเสี่ยงกับการซื้อโทรศัพท์ มือถือที่เปรียบเสมือนกับระเบิดเคลื่อนที่กันมาแล้ว เพราะอยู่ดีๆ แบตเตอรี่ก็ระเบิดออกมาเอง ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นกรณีของโทรศัพท์มือถือ "ปลอม" อย่างแท้จริง แต่ด้วยโทรศัพท์มือถือไร้มาตรฐานที่ กสทช.กำลังจัดการอยู่ในเวลานี้นั้น แม้จะยังไม่มีกรณีการระเบิดของแบตเตอรี่ หรือทำให้ผู้ใช้ได้รับบาดเจ็บทางกายภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจอีกหลายประการว่าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือประเภทนี้จะ ต้องเสี่ยงกับอันตรายที่มองไม่เห็นอะไรบ้าง

ต้องขอยกย่องคณะกรรมการกสทช.ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างเป็นจริงเป็นจัง และเป็นความหวังได้ระดับหนึ่งว่าระบบโทรคมนาคมในประเทศไทยจะมีคุณภาพที่ดี และคุ้มค่าให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ใช้งานอย่างสบายใจต่อไป

ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
post : วันจันทร์ ที่ 9 กรกฏาคม 2555 เวลา 8:59:11 น. by www.CreditOnHand.com
tag : ข่าวไอทีอัพเดท ของจริง-ของปลอมกับบทบาทกสทช.