S-Sense : เซ็นเซอร์ตรวจจับความรู้สึกบนโลกออนไลน์

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

S-Sense : เซ็นเซอร์ตรวจจับความรู้สึกบนโลกออนไลน์

Post by brid.ladawan »

S-Sense : เซ็นเซอร์ตรวจจับความรู้สึกบนโลกออนไลน์

ทำไมเชียงใหม่ร้อนจุง :-(

เอเชียทีคสวยยยยจุงเบย!!!!!!!!!

อยากอยู่เขาใหญ่ต่ออากาศดีมีความสุขมากกกกกก….

ปฏิเสธไม่ได้ว่า…ข้อความมากมายบนโลกออนไลน์ในยุคเว็บ 2.0 เหล่านี้ กำลังกลายเป็นที่สนใจและจับตามอง โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจที่ต้องการรับรู้ถึงกระแสความนิยมและการสร้างภาพลักษณ์ในตราสินค้า

เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบัน ต่างนิยมสะท้อนและแลกเปลี่ยนความรู้สึกเล็ก ๆ แต่มีความหมายผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมถึงการใช้งานบนเว็บบอร์ดต่าง ๆ

“ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ” ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บบอร์ด ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น ทำให้จำนวนเนื้อหาและความคิดเห็นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันการสำรวจความพึงพอใจในแบรนด์สินค้าแบบทันท่วงที ก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำธุรกิจ ซึ่งจากความนิยมในการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดแนวทางสำรวจตลาดแบบใหม่ที่เรียกว่าการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปริมาณของสื่อดังกล่าวมีจำนวนมาก ทำให้การติดตาม วิเคราะห์ เป็นไปได้ยากและไม่ครอบคลุม

เนคเทคโดยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเสียง จึงพัฒนา “ระบบ เอส-เซ้นส์ (S-Sense)” ขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรวบรวม ติดตาม วิเคราะห์และประมวลผลข้อความจากโซเชียลมีเดียและเว็บบอร์ดที่เป็นภาษาไทย

“ดร.อลิสา คงทน” นักวิจัยหัวหน้าโครงการดังกล่าว บอกว่า เนื่องจากข้อความส่วนใหญ่ในโลกไซเบอร์นิยมใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการหรือเป็นภาษาพูด รวมทั้งมีโครงสร้างประโยคที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทย ทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ ดังนั้นจึงพัฒนาระบบ S-Sense ขึ้น ด้วยเทคนิคการประมวลภาษาธรรมชาติ การทำเหมืองข้อความ และการวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกจากข้อความ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อความที่เป็นภาษาพูดและไม่เป็นทางการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ระบบสามารถติดตามและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือเนื้อหาที่ผู้สนใจจากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ สามารถวิเคราะห์ได้ทั้งคำสำคัญ คำบ่งบอกคุณลักษณะของสินค้าและบริการ รวมถึงคำที่มีการกล่าวถึงบ่อย

สามารถวิเคราะห์จุดประสงค์ของข้อความ วิเคราะห์ว่าเป็นข้อความเชิงบวกหรือลบ เป็นคำสุภาพหรือไม่และสามารถนำไปแสดงผลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กราฟ แท็ก คลาวด์ที่แสดงปริมาณของคำที่พูดถึงหรือมีไทม์ไลน์ เพื่อให้สามารถรับทราบสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีเบื้องต้นจากการทดสอบใช้งาน พบว่ามีระดับความถูกต้องของการประมวลผลประมาณ 85%

ส่วนที่ผิดพลาด ดร.จุฬารัตน์ บอกว่า ส่วนใหญ่จะมาจากวิวัฒนาการทางด้านภาษาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ศัพท์แสลงและภาษาวัยรุ่นต่าง ๆ

ตัวอย่างคำที่กำกวม เช่น รักได้งัย! เป็นคำถามหรือต้องการบอกเล่า …หากระบบไม่สามารถตรวจจับคีย์เวิร์ดได้ จะมีการใช้คนเป็นผู้วิเคราะห์ ก่อนส่งกลับเข้าไปในระบบ และเก็บไว้ในคลังข้อมูลต่อไป

ปัจจุบันระบบ S-Sense สามารถประยุกต์ใช้ในงานต่าง ๆ เช่น การติดตามแบรนด์ หรือการวิจัยตลาด การสำรวจผลการตอบรับของลูกค้าหรือสาธารณชน และการสำรวจความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร

“ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเสียง บอกว่า งานวิจัยดังกล่าวเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีการสำรวจมูลค่าตลาด แต่ปัจจุบันได้มีบริษัทต่างชาติเข้ามาทำตลาดรูปแบบใหม่นี้ในไทยรวมถึงในอาเซียนมากขึ้น

ซึ่งประเด็นของความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ดร.ชัย บอกว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เท่ากับการแจ้งเตือน เพราะไม่ว่าจะเป็นเสียงชื่นชม หรือตำหนิติเตียน ล้วนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้ที่ถูกวิจารณ์ทั้งสิ้น

สำหรับการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีนี้ ดร.ชัย บอกว่า สามารถทำได้ใน 3 รูปแบบหลัก ๆ แบบแรกที่ง่ายสุดก็คือ การทำเป็นโซลูชั่น ติดตั้งบนเซิร์ฟเวอร์ สามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ

แบบที่ 2 จัดทำเป็นเว็บ เซอร์วิส เรียกใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต มีฟังก์ชั่นมาตรฐาน ง่ายต่อการเริ่มต้นใช้งานและแบบที่ 3 เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปก็คือทำเป็นแอพพลิเคชั่น ซึ่งเนคเทคได้มีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น S-Sense แอพวัดความรู้สึกคนไทยบนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ติดตามข้อความความรู้สึกของผู้ใช้ภาษาไทยบนโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์ผ่าน http:// pop.ssense.in.th

แค่พิมพ์คำที่อยากรู้ว่าสาวกทวิตเตอร์คิดอย่างไร ความคิดเห็นบวกหรือลบมากกว่ากันจะออกมาทันที

…เชื่อได้แค่ไหน ไม่รับประกัน แต่ที่แน่ ๆ การสำรวจความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เหล่านี้ เคยกลายเป็นของจริง ! ที่ไม่หน้าแตกเหมือนกับโผของโพลทำมือในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ครั้งที่ผ่านมา.

นาตยา คชินทร
nattayap@daliynews.co.th

...................................................................

สำรวจสถาที่ยอดนิยมบนโซเชียลมีเดีย

ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์ที่ได้รับจากแอพพลิเคชั่น S-Sense เมื่อนำไปใช้กับการสำรวจข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของคนไทย

ทีมวิจัยของเนคเทค พบว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ที่ผ่านมา สถานที่ท่องเที่ยวที่มีการพูดถึงบนโลกโซเชียลมีเดียและเช็กอินมากที่สุด 10 อันดับแรกคือ พารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เชียงใหม่ เขาใหญ่ เยาวราช สวนสยาม เอเชียทีค ปาย สวนรถไฟและหอศิลป์

ส่วนสถานที่ที่คนบนโลกโซเชียลมีเดียกล่าวถึงเชิงบวกมากที่สุด อันดับแรก ๆ ก็คือถนนข้าวสาร สวนสยาม หอศิลป์ เชียงคาน อัมพวา และวังน้ำเขียว ส่วนที่กล่าวถึงเชิงลบคือภูชี้ฟ้า แก่งกระจาน แม่ฮ่องสอน ปราสาทพระวิหาร และสวนจตุจักร

แม้ความคิดเห็นเหล่านี้จะไม่ใช่ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ มีถูกต้องไม่ครบ 100% แต่ก็สามารถสะท้อนอะไรบางอย่าง

และที่ลืมไม่ได้ก็คือพลังความคิดเห็นเหล่านี้ กำลังเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกยุคปัจจุบัน.

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์
วันพุธที่ 17 เมษายน 2556 เวลา 00:00 น.
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”