Page 1 of 1

ปรับปรุง"พ.ร.บ.คอมพ์2550"รับเทคโนโลยี 3จี-4จี

Posted: 20 Apr 2013, 14:58
by brid.ladawan
ปรับปรุง"พ.ร.บ.คอมพ์2550"รับเทคโนโลยี 3จี-4จี

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ไม่ได้มีปัญหาเรื่องล้าหลัง แต่มีปัญหาในการบังคับใช้

“พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ไม่ได้มีปัญหาเรื่องล้าหลัง แต่มีปัญหาในการบังคับใช้” คำตอบของ นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “การปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ : ความสมดุลระหว่างเสรีภาพ กับความมั่นคง” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 บัญญัติขึ้นเพื่อรองรับการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2550 ซึ่งกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไว้

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 พบว่า มีการเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้มีการทบทวนหลักการของกฎหมายที่บังคับใช้ รวมถึงเพิ่มเติมส่วนที่กฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมหรือรองรับ ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มอบหมายให้ สพธอ.ศึกษาถึงสภาพปัญหา ข้อขัดข้อง และแนวทางการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและบริบทของสังคมไทย เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการติดต่อสื่อสารอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สพธอ. ได้จัดระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยหลายครั้งโดยแบ่งกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ, กลุ่มเอ็นจีโอ, ประชาชนทั่วไป, กลุ่มที่มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ และกลุ่มที่เป็นเหยื่อ โดยจะนำมารวมกับความคิดเห็นที่ได้จากการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นการปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 3 เดือน จากนั้นจะนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คาดว่าจะสมบูรณ์ภายใน 6 เดือน โดยตามขั้นตอน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับปรับปรุงจะสามารถบังคับใช้ได้ในอีก 3 ปี เนื่องจากต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้องภายในสิ้นปี 2556 และนำเสนอสภาเพื่ออนุมัติในปลายปี 2557

นางสุรางคณา กล่าวว่า การปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ต้องใช้วิธีเพิ่มเติมเนื้อหาในกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ๆ โดยการปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ครั้งนี้จะเน้นไปที่มาตรา 14 การปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์/เผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม และมาตรา 15 ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ โดยทำให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง ซึ่งการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายและเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีการสื่อสารยุค 3จี และ 4จี ที่จะทำให้การเข้าใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ ขยายตัวสูงขึ้น โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวครอบคลุมถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือแล้ว

“วันนี้คนไทยยังไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามจากคอมพิวเตอร์ว่ามีความร้ายแรงขนาดไหน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายงานภัยคุกคามไซเบอร์ของไทยและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงภัยคุกคามจากคอมพิวเตอร์ คาดว่าประมาณ 2 เดือนจะเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยขณะนี้หน่วยงานในภาคการศึกษาน่าเป็นห่วงมากที่สุดเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลบนโลกไซเบอร์ เนื่องจากคุณครูสอนให้เด็กทำเว็บไซต์ทำบล็อกโดยเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวรวมทั้งต้องใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก”

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2553 พบว่าตัวเลขมูลค่าการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยอยู่ที่ 608,587 ล้านบาท และมีตัวเลขของการโอนเงินและชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ 795,495 พันล้านบาท ซึ่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต และเป็นกฎหมายที่องค์การระหว่างประเทศ เช่น United Nations, European Union หรือ ITU เห็นว่าเป็นกฎหมายพื้นฐานที่ประเทศต่าง ๆ ต้องมีในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ผ่านเว็บไซต์ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 เม.ย. 56 ตามลิงก์นี้ http://www.etda.or.th/law_seminar/

น้ำเพชร จันทา
@phetchan

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์
วันพุธที่ 10 เมษายน 2556 เวลา 06:03 น.