Page 1 of 1

ฟรอสต์ฯ ระบุแรงผลักดันการใช้คลาวด์ในไทยยังไม่แข็งแรง

Posted: 05 Jul 2013, 15:04
by brid.ladawan
ฟรอสต์ฯ ระบุแรงผลักดันการใช้คลาวด์ในไทยยังไม่แข็งแรง


ฟรอสต์ฯ เผย แรงผลักดันการใช้งานคลาวด์ในไทยยังไม่แข็งแกร่ง แม้ว่ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีไทยมีความสนใจ แต่ติดด้านค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมกับใช้งาน คาดภายในปี 2558 จะมีการลงทุนในบริการคลาวด์อย่างแพร่หลายแน่นอน...

นางสาวเฉลิมพร อภิบุณโยภาส นักวิเคราะห์ธุรกิจไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า แม้ว่าการให้บริการคลาวด์จากทั้งผู้ให้บริการคลาวด์ หรือ Cloud Services Providers –CSP และผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล (Datacenter Services Providers) ในประเทศไทยจะนำเสนอโซลูชั่นที่หลากหลายมาสู่ตลาดมาระยะหนึ่งตั้งแต่ช่วง ปี 2552 เป็นต้นมา และการแข่งขันในการนำเสนอบริการเข้าสู่ตลาดอย่างจริงจัง ได้เกิดตั้งแต่หลังปี 2554 เป็นต้นมานั้น ขณะนี้ การตอบรับจากผู้ใช้บริการทั้งจากส่วนองค์กร เอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปยังคงอยู่ในระดับต่ำ อันเนื่องมาจากกลุ่มผู้ใช้บริการยังขาดความรู้ ความเข้าใจในประเภทของบริการ รูปแบบของการคิดค่าใช้จ่าย รวมถึงข้อกังวลบางประการจากการใช้งานทรัพยากรร่วมกัน (Cloud services charge and services models) อาทิ ความกังวลในระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและสถานที่ที่ข้อมูล หรือ สารสนเทศนั้นถูกเก็บอยู่จริงจากผู้ให้บริการ (Physical storage location) หรือกฎระเบียบข้อบังคับในการจัดเก็บข้อมูลจากบางอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งความกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่ทำให้การประยุกต์ใช้บริการประเภทนี้ ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรในประเทศ

นักวิเคราะห์ธุรกิจไอซีที บริษัท ฟรอสต์ฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในด้านของผู้ให้บริการคลาวด์เอง ยังคงนำเสนอโซลูชั่นที่ยังไม่หลากหลายและเป็นที่น่าสนใจเท่าที่ควร ปัจจุบันการให้บริการคลาวด์โซลูชั่นนั้นมาจากคลาวน์ใน 2 แบบหลัก ได้แก่ Infrastructure as a services (IaaS) และ Software as a services (SaaS) โดยมีรูปแบบในการให้บริการที่คล้ายคลึงกัน คือการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีวิธีการคิดค่าบริการตามทรัพยากรที่ใช้เป็นรายเดือน รายปี หรือคิดตามบัญชีผู้ใช้งาน เพียงแต่ต่างกันที่ทรัพยากรในการให้บริการ ซึ่งผู้ใช้บริการทั่วไป (หรือแม้กระทั่งบางองค์กร) เอง ก็ยังไม่มีความเข้าใจที่ดีพอถึงการเลือกรูปแบบการใช้งานและค่าบริการในแต่ประเภท

นางสาวเฉลิมพร กล่าวด้วยว่า รูปแบบการให้บริการคลาวด์ในอนาคตของประเทศไทย จึงควรออกมาในลักษณะของ Cloud solution for business โดยไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มงานการให้บริการ แต่ควรจะออกมาในลักษณะโซลูชั่นรวมที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ อาทิ การให้บริการคลาวด์แอพพลิเคชั่นทางธุรกิจ ควบคู่กับบริการการจัดเก็บข้อมูล และการประมวลผลการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นโซลูชั่นสำหรับงานธุรกิจ อาทิ กลุ่มงานทางการขายและการตลาด หรือการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าและการจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้า เป็นต้น.

โดย : ไทยรัฐออนไลน์
5 กรกฎาคม 2553