Page 1 of 1

คนอเมริกันกับเทคโนโลยี

Posted: 05 Jul 2013, 15:44
by brid.ladawan
คนอเมริกันกับเทคโนโลยี


เทคโนโลยีใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหลือหลาย อุปกรณ์สำหรับใช้งานเทคโนโลยีนั้นๆ ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย หลายอย่างถูกเปลี่ยนให้ "ทันสมัย" ขึ้นเมื่อของเดิมสำหรับการใช้งานในแบบเดียวกันขัดข้องจนไม่สามารถใช้งานได้แล้ว อีกเป็นจำนวนมากที่ถูกทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่เหลียวแล เพราะมีอย่างอื่นที่ใช้งานได้ง่ายกว่า ดีกว่า สะดวกกว่าเข้ามาทดแทน

ตัวอย่างที่เห็นกันได้ชัดเจนที่สุดก็คือ โทรศัพท์ ทุกวันนี้เราใช้โทรศัพท์มือถือกันเป็นว่าเล่น จนบางครั้งลืมไปแล้วด้วยซ้ำไปว่า มีเครื่องโทรศัพท์ "บ้าน" อยู่ที่บ้านด้วย

แต่มีข้อมูลแปลกๆ จากการสำรวจวิจัยในสหรัฐอเมริกา ที่แสดงให้เห็นว่า มีเทคโนโลยีอีกมากมายที่เราเห็นว่า "ล้าสมัย" ไปแล้ว แต่คนอเมริกันยังคงใช้อยู่ แถมซื้อหากันเป็นจำนวนไม่น้อยอีกด้วย ตัวอย่างที่น่าสนใจจากการสำรวจของ สมาคมผู้บริโภคอิเล็กทรอนิกส์ (ซีอีเอ) แห่งสหรัฐอเมริกา ล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อปี 2012 หรือเมื่อปีที่แล้วนี่เอง คนอเมริกันยังคงซื้อ "คาสเซตเทป" เทคโนโลยีด้าน "เสียง" ของเมื่อปี 1985 กันมากมายถึง 13 ล้านชิ้น เป็นการซื้อเทป "เปล่า" หรือที่เรียกกันว่า "แบลงค์เทป" เท่านั้นนะครับ

น่าเสียดายที่ ซีอีเอ ไม่ได้สนใจจะหาข้อมูลว่ามีเครื่องเล่นเทปคาสเซตอยู่ในสหรัฐอเมริกาอีกเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ แต่ก็ยังอุตส่าห์มีรายงานเอาไว้ว่า เครื่องเล่นเทปคาสเซตติดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ยังขายได้ถึง 15,000 ตัวในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่ผ่านมานี่เอง

น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในขณะที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กล้องดิจิตอล ราคาถูก สิ้นเปลืองต่ำ แถมภาพยังเห็นได้ทันทีทันควัน ปรับแต่งได้อีกต่างหาก ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มือถือหลายๆ รุ่นถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีกล้องอีกตัวพกไปไหนมาไหนให้เกะกะอีกแล้วนั้น บริษัทวิจัยชื่อ เอ็นดีพี ในสหรัฐอเมริกา สำรวจพบว่า เมื่อปีที่แล้วอีกเหมือนกัน คนอเมริกันยังคงซื้อฟิล์มเนกาทีฟใช้กันมากมายเหลือเชื่อถึง 35 ล้านม้วน แต่ชั้นวางของขายในร้านกล้องทั่วๆ ไปในบ้านเรา ไม่มีวี่แววให้เห็นอีกแล้วแม้แต่ม้วนเดียว

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ในขณะที่ ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่เราใช้เห็นๆ กันอยู่ในคอมพิวเตอร์พีซีบ้านเรา เก่าที่สุดในเวลานี้เห็นจะเป็น วินโดวส์ เอ็กซ์พี ที่แม้แต่ไมโครซอฟท์ผู้ผลิตเองก็ตัดหางปล่อยวัดไปแล้ว ไม่พัฒนา ไม่แก้ไขใดๆ ให้อีกต่อไปนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป แต่ในสหรัฐอเมริกายังมีพีซีอีก 0.05 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังคงใช้วินโดวส์ 98 กับ วินโดวส์ 2000 อยู่ในเวลานี้จากการสำรวจของ เน็ต แอพพลิเคชั่น บริษัทไอทีชื่อดัง เห็นตัวเลขไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านั้นอย่าว่าน้อยนะครับ เพราะพีซีในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดที่ใช้กันอยู่มีมากถึง 311 ล้านเครื่อง (ตัวเลขปี 2011) นั่นเท่ากับอย่างน้อยที่สุด ยังคงมีพีซี มากกว่า 150,000 ตัวที่ยังคงใช้ระบบปฏิบัติการของเมื่อศตวรรษที่ผ่านมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา

หรืออย่างเช่นผลสำรวจของ พิว รีเสิร์ช ว่าด้วย อินเตอร์เน็ตและการใช้ชีวิตของคนอเมริกัน ที่พบว่า มีคนอเมริกันมากถึง 4 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 10 ล้านคน ที่ยังคงใช้ "โมเด็ม ไดอัล อัพ" ความเร็ว 54 เค.เพื่อต่ออินเตอร์เน็ต หลายคนคงจำไม่ได้แล้วว่า ไอ้โมเด็มที่ว่านี้ต่างจากเราต์เตอร์ ไวไฟ ที่ใช้อยู่ที่บ้านยังไง แต่ถ้าบอกว่า ไอ้ที่ตอนต่อแล้วมันต้องดัง "ดิ้วๆๆๆ" เมื่อใกล้จะติดก็ตามด้วยเสียง "แครกๆๆๆ" นั่นแหละ เป็นต้องร้องอ๋อกันทุกคน

ถ้าถามว่าทำไม เทคโนโลยีเก่าๆ ถึงยังถูกใช้งานอยู่ในท่ามกลางความใหม่ ทันสมัยทั้งหลาย คงตอบเหตุผลรวมๆ กันลำบากมาก บางอย่างเป็นเรื่องของความ "คุ้นเคย" กับวิธีการใช้งานแบบเดิมๆ บางทีก็เป็นเรื่องของการไม่ต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่อาจจะซับซ้อน งงๆ ในตอนแรก หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องเดิมๆ นั่นคือ แม้แต่คนอเมริกันก็ไม่ได้ร่ำรวยมีเงินถุงเงินถังทุกคนไป อย่างในกรณี โมเด็ม ไดอัล อัพ นั้น พิว รีเสิร์ช บอกเอาไว้ว่า 4 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ในพื้นที่ 6 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอเมริกาที่บรอดแบนด์ยังเข้าไม่ถึง ส่วนหนึ่งเป็นพวกที่ไม่มีสตางค์จ่ายครับ

แต่เทคโนโลยีเก่าๆ ที่ถูกเก็บไว้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุและผลก็มีนะครับ เช่นที่ผลสำรวจของ ซีอีเอ ที่บอกว่า เมื่อปีที่แล้ว "เพจเจอร์" ยังขายได้มากถึง 10,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7 ล้านดอลลาร์ ในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ใช้กันในหมู่ แพทย์ และโรงพยาบาล ที่พบว่าเน็ตเวิร์กของเพจเจอร์ เชื่อถือได้ในกรณีการตามตัวแบบฉุกเฉิน โดยไม่จำเป็นต้องยกหูพูดคุยกันให้เสียเวลา

ผมกำลังคิดว่า สภาพแบบนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในอีกหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในไทย ด้วยเหตุและผลที่อาจจะแตกต่างกันออกไป

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบอกว่า มีคนเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ในสังคมเท่านั้นเองที่เป็นพวก "ปรับเปลี่ยนเร็ว" หรือ "ทันเทคโนโลยี" ส่วนที่เหลืออีกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์นั้น จะเป็นผู้บริโภคประเภทเลือกใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็นและคิดว่าเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองจริงๆ

ที่เหลือนอกจากนั้นคือคนที่ไม่สามารถ "เข้าถึง" เทคโนโลยีได้ จะด้วยความไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง "เงิน" กับ "ความรู้ความเข้าใจ" ในเทคโนโลยี

หรือที่เรียกว่า "ช่องว่างทางเทคโนโลยี" นั่นเองครับ!

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
21 มิ.ย. 2556
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th