ปรัชญาของแว่นกูเกิล - 1001

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ปรัชญาของแว่นกูเกิล - 1001

Post by brid.ladawan »

ปรัชญาของแว่นกูเกิล - 1001

ในตอนแรก ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องคอมพิวเตอร์แบบสวมได้ (Wearable Computer) ซึ่งแว่นของกูเกิลจัดเป็นอุปกรณ์ไฮเทคที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันมาสนใจกับคำว่าคอมพิวเตอร์แบบสวมได้ขึ้นมา

แต่ระหว่างที่กำลังหาข้อมูล เผอิญไปเห็นคลิปที่เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin–บรินเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล) พูดถึงกูเกิลกลาสหรือแว่นตาของกูเกิลบนเวที TED (http://youtu.be/rie-hPVJ7 Sw?t=3m10s) ว่า เหตุผลที่กูเกิลคิดทำกลาส คือ การที่ผู้คนสมัยนี้ใช้ชีวิตผูกกับโทรศัพท์มาก ในขณะที่ใช้โทรศัพท์ มือหนึ่งก็ต้องถือ ตาก็ต้องก้มดู กูเกิลจึงคิด ถึงอุปกรณ์ที่สามารถทำให้มนุษย์ยังคงสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ บนโลกผ่านการมองเห็นด้วยดวงตาไปพร้อม ๆ กับการรับรู้ข้อมูลและสั่งการอุปกรณ์ไฮเทคของตัวเองได้

ด้วยแนวคิดนี้ จึงทำให้เกิดการออกแบบแว่นตากูเกิล ซึ่งเปิดตัวได้อย่างฮือฮา และหลายคนถวิลหาที่จะใช้มัน แต่หากสังเกตกันให้ดี การออกแบบฟังก์ชันหลักของแว่นตาอันนี้ คือ ความพยายามในการสั่งการโดยไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วมือกดหรือแตะลงบนปุ่มอีกต่อไป เจ้าของแว่นสามารถสั่งให้ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ หรือสั่งให้คุยแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ผ่านแว่นตาอันนี้ได้ โดยที่เจ้าของแว่นยังคงทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปกติ เหมือนกับไม่ได้กำลังสั่งการสมาร์ทโฟนอยู่เลย ที่สำคัญข้อมูลต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นมาก็ต่อเมื่อเจ้าของเรียกใช้มันเท่านั้น ไม่ต้องปรากฏขึ้นมาเยอะแยะมากมาย เหมือนในหน้าจอของอุปกรณ์แบบอื่น ๆ

ผมชอบและชื่นชมแนวคิดการออก แบบแบบนี้ เพราะรู้สึกได้ว่า กูเกิลให้ความสนใจกับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในขณะที่หลายค่ายละเลยมัน เทคโนโลยีไฮเทคที่แข่งกันเผยโฉมในโลกไอทีนั้น พยายามดึงมนุษย์ให้ออกห่างจากความอ่อนโยนของธรรมชาติ เพิกเฉยต่อการสัมผัสทางกายระหว่างมนุษย์ด้วยกัน หรือแม้กระทั่งละเลยการสื่อสารด้วยสายตาที่แทนคำพูดได้นับร้อยพัน แต่กูเกิลออกแบบกลาสได้อย่างเรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติของคน

ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับความพยายามในการออกแบบคอมพิวเตอร์สวมได้แบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาที่เชื่อมกับสมาร์ทโฟนหรือนาฬิกาที่เป็นสมาร์ทโฟน ซึ่งออก แบบเพื่อผูกมนุษย์ให้ติดกับเทคโนโลยีมากขึ้น จากเดิมที่ใช้นาฬิกาเพื่อบอกเวลาเพียงอย่างเดียว แต่สมาร์ทโฟนในร่างนาฬิกากลับทำให้คนต้องใช้ผูกพันกับนาฬิกาและโลกไซเบอร์มากกว่าเดิม ในขณะที่ยังคงต้องใช้งานโทรศัพท์มือถือเพื่อสื่อสารข้อมูลต่อไป

มีประเด็นถกเถียงบางประการที่แย้งกับปรัชญาการออกแบบของกูเกิลในลักษณะนี้ บางคนบอกว่า กูเกิลกลาสไม่น่าจะใช้งานทดแทนสมาร์ทโฟนได้ เพราะหน้าจอการแสดงผล ไม่เหมือนกับสมาร์ทโฟน การแสดงข้อมูลในลักษณะเว็บเพจไม่ได้ ทำให้คนยังคงต้องใช้สมาร์ทโฟนอยู่ดี ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่ารับฟัง แต่ถ้าพิจารณาตามที่มาของกลาสแล้ว จะเห็นว่า กลาสไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่ออ่านเว็บหรืออ่านทวิต หากแต่มันถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อคำสั่งในแบบของกูเกิลวอยซ์เสิร์ช นั่นคือ มันจะใช้โครงสร้างพื้นฐานที่กูเกิลมี เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งของมนุษย์อย่างชาญฉลาดด้วยการรวบรวมคำตอบแล้วสรุปเป็นคำตอบสั้น ๆ ที่ได้ใจความ

การเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์แบบสวมได้เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ของทุกสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คอมพิว เตอร์เองเปลี่ยนรูปร่างของมันมาตลอด อุปกรณ์เพื่อการสื่อสารเหล่านี้ก็กำลังปรับเปลี่ยนรูปร่างไป เพื่อให้มันสามารถดำรงอยู่ในโลกของการแข่งขันต่อไป

เรามาคอยดูกันดีกว่า ว่ากูเกิลกลาสจะทำหน้าที่ของมันได้ตามเป้าหมายของผู้ออกแบบหรือไม่ และจะแจ้งเกิดเหมือนไอแพดในแบบที่สตีฟ จ็อบส์ทำได้หรือไม่

“อีกไม่นานเกินรอ...เราคงได้เห็นกันครับ”.

สุกรี สินธุภิญโญ
(sukree.s@chula.ac.th)
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย : เดลินิวส์ออนไลน์
5 กรกฎาคม 2556
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”