Page 1 of 1

เปิดโมเดลจังหวัดอัจฉริยะ ‘นครนายก’ ต้นแบบเมืองไอที

Posted: 14 Aug 2013, 11:29
by brid.ladawan
เปิดโมเดลจังหวัดอัจฉริยะ ‘นครนายก’ ต้นแบบเมืองไอที


ในปี 2558 นอกจากประเทศไทยจะต้องพร้อมรับประชาคมอาเซียนแล้ว ยังจะต้องบูรณาการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข่าวสารของภาครัฐ และภาครัฐต้องให้บริการแก่ประชาชนและเอกชนด้วยระบบบริการแบบออนไลน์ ณ จุดเดียว ทุกที่ ทุกเวลา อย่างมีคุณภาพ

ดังนั้น จึงต้องสร้างความพร้อมและผลักดันให้เกิดข้อมูลและเอกสารของรัฐที่เกี่ยวข้องกับประชาชนให้เป็นระบบเปิด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเชื่อมโยงการปฏิบัติการร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระบวนการทำงานระหว่างระบบสารสนเทศภาครัฐที่มีความแตกต่างกันได้อย่างอัตโนมัติ บน “มาตรฐานเปิด” และเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า แนวทางในการผลักดันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แบบบูรณาการ จะเน้นวางรากฐานและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงความเจริญ ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเท่าเทียม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ เกษตรกรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาหารธุรกิจต่าง ๆ และด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ผลักดันโครงการสมาร์ท โพรวินซ์ (Smart Province) หรือ “จังหวัดอัจฉริยะ” โดยเลือกจังหวัดนครนายกให้เป็นต้นแบบ โดยมีแนวทาง คือ 1. ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ไอที อินฟราสตรัคเจอร์ (IT Infrastructure) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงเทคโนโลยี 2. ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการประชาชนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ 3. การให้บริการข้อมูลที่จำเป็นสำหรับประชาชนในระดับหมู่บ้าน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งระบบการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นคุณภาพ เข้าไปใช้ในการบริหารจัดการ

โดยมีตัวชี้วัด 5 ตัว คือ 1. ผลผลิตมวลรวมเพิ่มขึ้น 2.รายได้ประชากรต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้น 3. การกระจายรายได้ของประชาชนดีขึ้น 4. ความสุขมวลรวมของประชาชนดีขึ้น และ 5. ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภาครัฐลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาวิสัยทัศน์ในแต่ละจังหวัดดังกล่าวโดยจัดทำแนวความคิดหลักในการ
บูรณาการการบริหารงานระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นเข้าด้วยกัน

’ปัจจุบันทำ 4 อำเภอ 400 หมู่บ้านใน จ.นครนายก โดยเด็กนักเรียนจะสามารถใช้เทคโนโลยีไร้สายในการค้นคว้าข้อมูลถือเป็นการศึกษา 4 มิติ โดยสามารถบันทึกกิจกรรมแล้วนำเสนอผ่านเว็บไซต์ที่จัดตั้งขึ้น และผู้ปกครองสามารถเข้าเว็บไซต์เพื่อตรวจผลการเรียนและเข้าดูกิจกรรมการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนด้วย“

น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า จากแผนผังโครงสร้างการจัดการพื้นฐานของ โครงการ สมาร์ท โพรวินซ์ โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยผลักดันและประสานงานร่วมกับหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ในภาครัฐเพื่อให้เกิดรูปธรรมของโครงการดังกล่าวอย่างแท้จริงในแต่ละด้าน คือ ด้านการติดต่อสื่อสาร ด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านการให้บริการกับประชาชน ด้านความรู้ และด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ จะประเมินผลงานโครงการ สมาร์ท โพรวินซ์ จังหวัดนครนายกในช่วงสิ้นปี และเลือกโมเดลที่ประสบผลสำเร็จก่อนขยายไปอีก 10 จังหวัด ซึ่งอาจจะไม่ครบทั้ง 32 มิติ ก็ได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิภาคของแต่ละจังหวัดด้วย

ความตั้งใจที่กระทรวงไอซีที และรัฐบาลผลักดันให้นครนายกเป็นจังหวัดอัจฉริยะในการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนา หวังว่าสิ้นปีนี้จะเห็นความสำเร็จที่ชี้วัดได้และทยอยดันจังหวัดอื่น ๆ ให้มีความเจริญตามเป้าหมายที่วางไว้.


ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์
วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2556
กัญณัฏฐ์ บุตรดี
Kanyanat25@gmail.com
จำนวนคนดู 4,764 ครั้ง