Page 1 of 1

เสวนาเสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์

Posted: 16 Aug 2013, 17:06
by brid.ladawan
เสวนาเสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์

เสวนา "เสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์กับประเด็นความมั่นคง" รองผกก.ปอท. แจงจุดประสงค์คุมไลน์ต้องการได้ความร่วมมือจากผู้ให้บริการ ไม่ใช่การควบคุมผู้ใช้ทั่วไป

วันนี้ (16 ส.ค.) เวลา 09.00 น. ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาสาธารณะ "เสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์กับประเด็นความมั่นคง" ที่ห้องประชุม1001ศูนย์ประชุมศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ชั้น10 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มีผู้เข้าร่วมการเสวนาประกอบด้วย นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บก.ข่าวการเมืองและความมั่นคง จากไทยพีบีเอส, พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผกก.กลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี การปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.), นายอาทิตย์ สุริยวงศ์กุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต และนายศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ นักสื่อสารมวลชนอิสระและนักกฎหมาย

นายเสริมสุข บก.ข่าวการเมืองและความมั่นคง จากไทยพีบีเอส ยกกรณีศึกษาของตนเองที่เพิ่งถูก ปอท.เรียกแจงปมโพสต์ข้อความวิเคราะห์ลือปฏิวัติ ว่า ไม่น่าเป็นเรื่อง ตนเองจึงสงสัยขอบเขตพ.ร.บ.มั่นคง เพราะทำเช่นนี้อดคิดไม่ได้ว่าเอี่ยวการเมือง แม้สรุป ปอท. เรียกสอบตนฐานะพยาน แต่ก็สงสัยว่าแล้วทำไม เว็บจาบจ้วงยังอยู่

พ.ต.ท.สันติพัฒน์ รองผกก.ปอท. กล่าวว่า กรณีคุณเสริมสุขที่เรียกมาสอบ เนื่องจากการโพสต์ทำให้เกิดความตื่นตระหนกตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงเรียกสอบ แม้แต่ตำรวจก็เคยถูกเรียกสอบเช่นกัน ส่วนเว็บไซต์ที่จาบจ้วงก็มอนิเตอร์ทุกวัน แต่การดำเนินคดีต้องใช้ระยะเวลา

ส่วนกรณีคุมแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) พ.ต.ท.สันติพัฒน์ กล่าวว่า จุดประสงค์ต้องการได้ความร่วมมือจากผู้ให้บริการ ไม่ใช่การควบคุมผู้ใช้ทั่วไป ซึ่งเมื่อเกิดการกระทำผิดมีการร้องทุกข์ ปอท.หวังได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการเผยข้อมูลเฉพาะของคนทำผิดเท่านั้น

นายศิลป์ฟ้า นักสื่อสารมวลชนอิสระและนักกฎหมาย กล่าวว่า กรณีของคุณเสริมสุข ถ้าไม่ก๊อปปี้ข้อความลือมาโพสต์ อาจเขียนแค่ว่าสิ่งที่ลือกันไม่จริงและความเห็น อย่างนี้ไม่เข้าข่ายผิด

นายอาทิตย์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยังต้องปรับให้เหมาะสม เข้าใจว่าเน้นระบบคอมพิวเตอร์มากไป ส่วนตัวอ่านกฎหมายแล้วไม่เข้าใจ เช่น กดไลค์ (Like) ผิดกฎหมายข้อไหน ดังนั้นกฎหมายควรปรับให้ประชาชนเข้าใจง่าย มีความชัดเจน ชอบธรรม จำเป็น และชอบด้วยสัดส่วน

ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2556