Page 1 of 1

เทคโนโลยีกับการแปลภาษาแห่งศตวรรษที่ 21 - รอบรู้ไอที รอบโลกเ

Posted: 21 Aug 2013, 14:32
by brid.ladawan
เทคโนโลยีกับการแปลภาษาแห่งศตวรรษที่ 21 - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

โลกเรามีภาษาที่ใช้กันอยู่มากกว่า 6,000 ภาษาทั่วโลก เมื่อโลกแคบลง มนุษย์เราก็ต้องการภาษากลางที่จะใช้ร่วมกันหรือตัวกลางที่จะช่วยให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด

วันนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นตัวกลางในการแปลภาษา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถอำนวยความสะดวกให้คุณผู้อ่านหลาย ๆ คนได้

ก่อนอื่นผมขอไล่ประวัติศาสตร์ซักเล็กน้อย ในสมัยก่อนถ้าเราอยากจะแปลภาษาอะไร เราก็ต้องเปิดหนังสือพจนานุกรมเล่มหนา ๆ เพื่อแปลจากภาษานั้นมาเป็นภาษานี้ ต่อมามีการประดิษฐ์พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่พกพาง่าย หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า Talking Dict ช่วยให้การหาความหมายของคำศัพท์ต่าง ๆ รวดเร็วขึ้น แถมยังออกเสียงคำศัพท์เป็นภาษานั้น ๆ ให้ฟังอีกด้วย โดยในช่วงแรกจะมีข้อจำกัดตรงที่ว่ามันออกเสียงได้เป็นคำ ๆ ไป แต่ไม่สามารถออกเสียงประโยคยาว ๆ ได้ จนต่อมาก็มีคนพยายามเพิ่มขีดความสามารถให้ Talking Dict จนสามารถออกเสียงหลายคำต่อกันเป็นประโยคได้ แต่อย่างไรก็ตามแม้จะเร็วขึ้น แต่การจะมาแปลบทความยาว ๆ หรือหนังสือเป็นหน้า ๆ ด้วย Talking Dict นั้นก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย

ณ เวลานั้น ประจวบเหมาะกับการที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น ในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกบ้านทุกครัวเรือนเริ่มจะมีคอมพิวเตอร์ประจำบ้าน มีอินเทอร์เน็ตใช้ ทำให้การอ่านบทความข่าวสารเปลี่ยนจากอ่านบนหน้ากระดาษไปเป็นอ่านบนหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสักฉบับก็ต้องมี Talking Dict ติดตัวกดกันมือพัลวัน ไหน ๆ พอมาอ่านบนคอมพิวเตอร์แล้วก็เลยมีคนคิดโปรแกรมแปลภาษา อาทิ Google Translate ออกมา ทำให้กดคลิกเดียวสามารถแปลทั้งประโยคและเนื้อหาทั้งหน้าบนเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย

เห็นไหมครับว่าแม้แต่การแปลภาษาก็ค่อย ๆ มีความทันสมัยขึ้นเรื่อย ๆ แต่เพียงเท่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ ถ้าเกิดเราบังเอิญเดินไปเจอป้ายบอกทางที่เป็นภาษาที่เราอ่านไม่ออกขึ้นมา เราจะรู้ความหมายของคำนั้น ๆ ได้อย่างไร ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวเลยนะครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ผมพูดและอ่านภาษาอังกฤษได้ แต่ในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เช่น ประเทศฝรั่งเศส ผมเข้าร้านอาหารไปเจอเมนูอาหารเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งต่อให้ผมหยิบ Talking Dict หรือโปรแกรม Google Translate บนมือถือขึ้นมา ผมก็ไม่รู้จะพิมพ์คำเหล่านั้นเข้าไปอย่างไร เพราะว่าผมอ่านมันไม่ออก แป้นพิมพ์ก็ไม่มีภาษานั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาคลาสสิกของนักเดินทางหลาย ๆ คนเลยทีเดียว ทำให้มีนักคอมพิวเตอร์ชาวสหรัฐชื่อ Otavio Good ได้คิดประดิษฐ์แอพพลิเคชั่นขึ้นมาตัวหนึ่งชื่อว่า Word Lens

Word Lens จะใช้กล้องและหน่วยประมวลผลของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการตีความหมายของคำที่เขียนอยู่ในภาพแล้วแปลเป็นคำในภาษาที่เราต้องการให้ได้ในทันที (Real Time) ซึ่งไม่เพียงแค่แปลเท่านั้นแต่ Word Lens ยังใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกจริง (Augmented Reality) โดยการแทนที่คำเดิมที่เราแปลไม่ออกที่ปรากฏอยู่ในภาพด้วยคำแปลที่โปรแกรมแปลมาให้ พูดง่าย ๆ ก็คือจากรูปภาพเมนูที่รายการอาหารเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศสที่ผมถ่ายมาในตอนแรก Word Lens สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นภาพเมนูเล่มเดิมที่รายการอาหารเขียนด้วยภาษาอังกฤษแทนได้นั่นเองครับ เพราะฉะนั้นเวลาผมเดินทางไปต่างประเทศ แค่ลงโปรแกรมนี้และเล็งกล้องในโทรศัพท์ไปที่ข้อความภาษาต่างประเทศนั้น ๆ เช่น ป้ายบนถนน หรือรายชื่ออาหารบนเมนู คำแปลก็จะปรากฏซ้อนขึ้นมาบนหน้าจอโทรศัพท์ทันที ซึ่งจากที่ผมได้ทดลองใช้ถือว่าใช้งานได้ดีเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นใครจะไปต่างประเทศ ลองหยิบเทคโนโลยีสมัยใหม่พวกนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ดูนะครับ ยิ่งเราจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอยู่แล้ว การจะเรียนภาษาอื่น ๆ ในเวลาไม่กี่ปีอาจจะไม่ทันแต่เราสามารถใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการติดต่อสื่อสารได้ เรียกว่าเอาเครื่องมือในโลกยุคปัจจุบัน มาประยุกต์เข้ากับความรู้ที่เรามี เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเองครับ.

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต
chutisant.k@rsu.ac.th

เดลินิวส์ออนไลน์
วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556