Page 1 of 1

10 ปีนาโนเทค

Posted: 21 Aug 2013, 14:34
by brid.ladawan
10 ปีนาโนเทค

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน คำว่า “นาโนเทคโนโลยี” ยังถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนไทย

สารพัดคำถามกับความเล็กขนาดนาโนเมตร หรือ 1 ในพันล้านส่วนของเมตร จนต้องนำไปเปรียบเทียบกับขนาดของเส้นผมว่า เล็กเพียงแค่ 1 ในห้าหมื่นส่วนของเส้นผมเท่านั้น

10 ปี ต่อมา วันนี้ “นาโน” กลายเป็นที่รู้จักผ่านสินค้าและบริการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนาโนจริงหรือปลอม แต่ก็ได้จุดกระแสความตื่นตัวด้านเทคโนโลยี ที่เคยคาดกันว่าจะเป็นคลื่นลูกใหม่ของทุกภาคอุตสาหกรรม

และถือได้ว่าเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค ที่ก่อตั้งตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 13 สิงหาคม 2546 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

“ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า 10 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานของนาโนเทค ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการจัดทำแผนแม่บทนาโนเทคโนโลยีของประเทศ มีการสร้างเครือข่ายวิจัยที่เข้มแข็งโดยมีศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศ 8 แห่งทั่วประเทศ และมีการผลักดันให้เกิดการนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์

...ปัจจุบันไทยมีนักวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีประมาณ 700 คน และมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 1,000 เรื่อง...

ส่วน 10 ปีต่อจากนี้ไป ผอ.นาโนเทค บอกว่า จะเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ มีการนำเทคโนโลยีไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ และมีการทำวิจัยแบบพุ่งเป้า เพื่อเข้าสู่ยุคของการจัดเรียงโมเลกุล ที่อนาคตเราจะเห็นคอมพิวเตอร์ที่เล็กลงเรื่อย ๆ แต่ความสามารถในการประมวลผลและการประหยัดพลังงานดีขึ้นเป็นพันเท่า

และใน 10 ปีนี้นาโนเทคจะเน้นการทำวิจัยแบบพุ่งเป้า หรือ Flagship Programs เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไทย โดยครอบคลุมใน 4 ด้านหลักคือ ภาคการเกษตร สุขภาพ อุตสาหกรรม พลังงานและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด ...นาโนเทคได้เปิดตัว 10 โครงงานวิจัยแบบมุ่งเป้า อาทิ โครงการพัฒนาปุ๋ยนาโน ที่ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พัฒนาขึ้น โดยเป็นปุ๋ยสูตรผสม NPK เคลือบด้วยวัสดุนาโนพอลิเมอร์จากธรรมชาติที่มีรูพรุน สามารถควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารสำคัญได้ตามต้องการของชนิดพืช เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ

ส่วนโครงการวัสดุปรุงแต่งดินจากการแปรรูปผักตบชวา เป็นการนำผักตบชวาที่สร้างปัญหาให้กับการคมนาคมทางน้ำ มาแปรรูปด้วยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอไนเซชั่น ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ก็ได้สารปรับปรุงดินที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการปลูกพืชเหมือนกับดินที่ผ่านกระบวนการหมักหมมตามธรรมชาติมานานหลายร้อยปี

งานวิจัยอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการไปสู่ภาคสนามและสร้างเป็นโรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก การควบคุมป้องกันและกำจัดยุง การเพิ่มมูลค่าสิ่งทอพื้นเมืองด้วยนาโนเทคโนโลยี อย่างเช่น การเคลือบนาโนให้กับผ้าไหม เพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านการกันน้ำ หรือมีกลิ่นหอม การใช้นาโนเทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล การพัฒนาวัสดุดูดซับที่ช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์ การพัฒนาเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน และโครงการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้านาโนเทคโนโลยี

ศ.นพ.สิริฤกษ์ บอกว่า งานวิจัยแบบมุ่งเป้านี้ มีจุดเด่นที่การรวมความเชี่ยวชาญจากนักวิจัยสาขาต่าง ๆ ทั้งในศูนย์นาโนเทค และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 20 คนต่อ 1โครงงานวิจัย

เบื้องต้นมีระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จใน 3 ปี

แต่ที่สำคัญก็คือ ต้องทำให้เห็นผลได้ภายใน 1 ปี ส่วนจะสามารถขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ.

นาตยา คชินทร
nattayap.k@gmail.com

เดลินิวส์ออนไลน์
วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556