Page 1 of 1

กสท.ถกประมูลทีวีดิจิตอล พร้อมชี้แจงกมธ.สภาฯย้ำโปร่งใส

Posted: 19 Nov 2013, 09:14
by brid.ladawan
กสท.ถกประมูลทีวีดิจิตอล พร้อมชี้แจงกมธ.สภาฯย้ำโปร่งใส

จับตาวาระประชุม “บอร์ด กสท.” วันที่ 18 พ.ย.นี้ ออกหลักปฏิบัติการประมูลคลื่น “ทีวีดิจิตอล” ด้าน “สุภิญญา” ยันหลักเกณฑ์ประมูลโปร่งใส พร้อมชี้แจงกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนฯในสัปดาห์นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.นี้ บอร์ดกสท.เตรียมออก (ร่าง) หลักปฏิบัติการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ รองรับการประมูลทีวีดิจิตอล ซึ่งตามขั้นตอน กสท. เตรียมประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติได้วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย กสท.พิจารณาจะยึดหลักปฏิบัติดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินการประมูลเพื่อให้การประมูลเป็นธรรม และโปร่งใส และเป็นไปตามที่กฎหมายได้กำหนดหลักปฏิบัติการประมูลไว้ 6 หมวด ดังนี้

1.การเตรียมการประมูล 2.การเข้าสู่สถานที่การจัดประมูล 3.การประมูล 4.การติดต่อสื่อสารระหว่างการประมูล 5.การประกาศและรับรองผลการประมูล 6.มาตรการรักษาความเป็นธรรม และผลประโยชน์ของรัฐในการประมูล รวมถึงภาคผนวก ก หนังสือยินยอมเพื่อการรักษาข้อมูลสารสนเทศที่ต้องห้ามเปิดเผยและป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และภาคผนวก ข สิ่งของและอุปกรณ์ที่อนุญาตนำเข้าห้องประมูล เป็นต้น ซึ่งการยกร่างหลักปฏิบัติการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย อยากฝากให้ผู้ร่วมประมูลช่วยกันจับตาร่างนี้เพื่อให้ทุกเกณฑ์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสำนักงานควรมีการซักซ้อมสร้างความเข้าใจก่อนการประมูลจริง

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณาข้อมูลชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการ(กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่นายศุภชัย ศรีหล้า ประธานคณะกรรมาธิการ มีหนังสือเชิญ ประธาน และกรรมการกสทช.ทุกท่านเข้าร่วมประชุม เพื่อสอบถามข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดประมูลทีวีดิจิตอล ในวันที่ 20 พฤศจิกายนทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ความแตกต่างข้อดีข้อเสียระหว่างการให้สัมปทานกับการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อขอรับใบอนุญาต รวมถึงผลกระทบด้านต่างๆ ต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบกิจการ มาตรการแก้ไขและเยียวยาที่อาจเกิดขึ้น และแผนการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน การใช้อำนาจชะลอการเปิดประมูลทีวีดิจิตอลได้หรือไม่

นส.สุภิญญากล่าวว่า ที่ประชุมยังจะหารือประเด็นแนวทางการควบคุมเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่มีการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ในรายการที่ใช้ถ้อยคำหมิ่นประมาทหรือไม่เหมาะสม และเป็นเครื่องมือทาง
การเมืองเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ทั้งโทรทัศน์ภาคพื้นดินและผ่านดาวเทียม

“การที่ กสทช.ถูกตรวจสอบเป็นเรื่องการประมูล หรือการตั้งคำถามเข้ามาทั้งจากกรรมาธิการ กลุ่มต่างๆ หรือแม้แต่สหภาพ เป็นเรื่องที่ดี เพราะการประมูลย่อมมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงเป็นหน้าที่ กสทช.ควรชี้แจง ซึ่งตนเชื่อว่าข้อมูลที่จะเตรียมหารือเพื่อเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการ จะออกมาด้วยดี สามารถสร้างความเข้าใจในการประมูลครั้งนี้ที่ยึดตามกรอบกฎหมาย” นางสาวสุภิญญา กล่าว

ทั้งนี้หากมีข้อบกพร่องอะไรจะช่วยกันปรับปรุง แต่หากจะไม่ให้เกิดการประมูลเลยคงเป็นไปไม่ได้เพราะจะกระทบต่อทิศทางการปฏิรูปโครงสร้าง และระบบโทรทัศน์ไทย ที่เราอยากจะใช้โอกาสการประมูลครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนระบบโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกเป็นดิจิตอลเท่านั้น แต่ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนระบบสัมปทานกึ่งผูกขาดมาเป็นระบบใบอนุญาต ที่เปิดโอกาสตลาดให้มีการแข่งขันมากขึ้น สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะมีทางเลือกในการรับชมมากขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556