Page 1 of 1

กูรูไอทีสยบลือ Manboker ใสกิ๊ก!! ไม่มีล้วงตับ

Posted: 19 Nov 2013, 10:15
by brid.ladawan
กูรูไอทีสยบลือ Manboker ใสกิ๊ก!! ไม่มีล้วงตับ


ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเบื้องต้นแอพพลิเคชั่นวาดการ์ตูนล้อเลียนจากจีนไม่มีปัญหาล้วงความลับของผู้ใช้ ชี้ขึ้นกับผู้ใช้ยินยอมอนุญาตให้แอพฯ เข้าถึงข้อมูลมากน้อยแค่ไหน เตือนห้ามรูท เจลเบรกโทรศัพท์มือถือ เหตุง่ายต่อการแฮกข้อมูล...

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในโลกโซเชียลทั้งเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ปรากฏฟีดภาพวาดล้อเลียนการ์ตูนกันอย่างแพร่หลาย โดยแอพฯ สุดฮิตดังกล่าวมาจากประเทศจีนที่มีชื่อว่า Manboker จุดเด่นของแอพฯ นี้อยู่ที่การนำใบหน้าของตัวเองเข้าไปใส่ตัวการ์ตูนที่มีคาแรกเตอร์น่ารักๆ แตกต่างกันให้ผู้ใช้ได้เลือกใส่มากมายหลายแบบ ล่าสุดเมื่อช่วง 1-2 วันที่ผ่านมากลับพบการส่งข้อความเตือนในโลกโซเชียลว่า...

ด่วนมากๆ! (appที่ป๊าแต่งรูป) เพื่อนๆ โปรดทราบ........!!!!!!.....

ใครที่โหลดโปรแกรมรูปจากจีนที่เป็นรูปการ์ตูน กรุณาลบโปรแกรมนี้ด้วย

เพราะมันล้วงข้อมูลในเครื่องไปด้วย ล่าสุดมีเพื่อนโดนแล้วค่ะ

โดยเฉพาะข้อมูลบัตรเครดิต.....ว่าแล้วของฟรีไม่มีในโลก

ไทยรัฐออนไลน์ได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยัง ดร.รัฐภูมิ ตู้จินดา นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งกล่าวว่า จากการตรวจสอบแอพฯ ดังกล่าวไม่พบปัญหาดังที่มีผู้กล่าวอ้าง

โดยให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า หลักการคร่าวๆ ของแอพพลิเคชั่นทุกตัวไม่ว่าจะเป็นบน iOS หรือแอนดรอยด์ ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเข้าถึง Contact list ในโทรศัพท์ของเรา ต้องถามก่อนว่าแอพฯ ที่ว่าสามารถเข้าถึงอะไรได้บ้างในโทรศัพท์ของเรา Contact list หรือ Location อย่าง iOS ก็จะเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงกว่า เนื่องจากมีการทำระบบหลายชั้น แต่แอพฯ หลายตัวก็สามารถเก็บข้อมูลของเราไปวิเคราะห์ได้ เราเรียกว่า Big Data เป็นการเก็บข้อมูลจากคนหลายๆ คน แล้วนำไปวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เขาเข้าใจเรามากขึ้น

"มีตัวอย่างของเว็บไซต์อเมซอน ที่เขาสำรวจของที่ลูกค้าซื้อและทำนายได้ว่าคนนี้กำลังท้องอ่อนๆ เค้าก็จะเลือกสินค้ามาขายให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ เพื่อให้คนเหล่านี้กลับมาซื้อของต่อ จะเห็นได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีศักยภาพลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องระมัดระวัง ไม่ควรคิดว่ามือถือเป็นของส่วนตัว ข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญก็ไม่ควรเอาไว้บนมือถือ" ดร.รัฐภูมิ กล่าว

อย่างแอพฯ วาดการ์ตูนล้อเลียน ต้องดูว่าเขาขออะไรจากเรา อัพโหลดไปแล้วผูกติดกับอะไรไหม? เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ยิ่งอัพโหลดบนสื่อเยอะมากเท่าไหร่ ความเป็นส่วนตัวยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น มีความเป็นไปได้ที่เขาจะเก็บข้อมูลการใช้ของเราไว้ หลายบริษัทอาจจะออกมาชี้แจงว่าไม่มีนโยบายขายข้อมูลเหล่านี้ให้บริษัทอื่นๆ แต่จะแชร์ข้อมูลกันภายในบริษัทในเครือเท่านั้น ก็ต้องดูว่า ถ้าบริษัทนั้นเกิดไปไม่รอด เขาก็ต้องขายข้อมูลเหล่านี้ออกไปให้บริษัทภายนอกอยู่ดี จริงๆ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าคนทั่วไปไม่ค่อยรู้ พอรู้ทีก็ตื่นตัวกันมาก เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารความเป็นส่วนตัวน้อยลงก็ต้องระมัดระวังกันมากขึ้น

ทั้งนี้ได้แนะนำว่าการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของการทำธุรกรรมทางการเงิน ต้องมั่นใจว่าโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไม่มีไวรัส เพราะอาจเสี่ยงต่อการขโมยพาสเวิร์ดไปทำธุรกรรมทางการเงินได้ การใช้มือถือต้องเข้าใจว่าเรามีความเสี่ยงอะไรบ้าง จะได้รู้วิธีการป้องกัน อาจจะป้องกันไม่ได้ทั้งหมด แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ส่วนนายกิติศักดิ์ จิรวรรณกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (EGA) กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ ว่า ไม่ฟันธงว่าแอพฯ วาดการ์ตูนล้อเลียนจากจีนจะสามารถเข้าไปล้วงความลับของผู้ใช้ได้จริงหรือไม่ แต่อยากให้ทุกคนตรวจดูการเข้าถึงข้อมูลในแอพฯ เพราะเมื่อทำการติดตั้งแอพฯ บนโทรศัพท์มือถือขึ้นกับตัวผู้ใช้เองว่าจะตกลงหรืออนุญาตให้แอพฯ ดังกล่าวเข้าถึงข้อมูลของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน

โดยได้แนะนำว่าในการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อความปลอดภัยนั้น ห้ามรูท (root) หรือ เจลเบรก (jailbreak) โทรศัพท์มือถือ ติดตั้งโปรแกรมแอนติไวรัสลงในโทรศัพท์มือถือ ดาวน์โหลดแอพฯ ผ่าน Play Store หรือ App Store เท่านั้น หากจะดาวน์โหลดจากที่อื่นต้องมั่นใจว่าเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ หมั่นตรวจสอบดูว่าในมือถือมีแอพฯ แปลกๆ ที่เราไม่ได้ดาวน์โหลดโผล่มาหรือไม่ ถ้ามีให้ลบทิ้ง ติดตามข่าวสารเรื่องของความปลอดภัย เพื่อป้องกันความปลอดภัยในเรื่องของการใช้มือถืออยู่เสมอ ล็อกโทรศัพท์มือถือเพื่อป้องกันคนอื่นนำมือถือไปโหลดแอพฯ ที่ไม่พึงประสงค์.

โดย ไทยรัฐออนไลน์
6 พฤศจิกายน 2556