Page 1 of 1

ปอศ. เพิ่ม30% ตรวจเข้มธุรกิจละเมิดซอฟต์แวร์

Posted: 23 Nov 2013, 13:41
by brid.ladawan
ปอศ. เพิ่ม30% ตรวจเข้มธุรกิจละเมิดซอฟต์แวร์


"บก.ปอศ." เปิดตัวเลขละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ระบุ 10 เดือนแรกเกิด 247 คดี เสียหาย 510 ล้านบาท ท็อปฮิตมาจากบริษัทสัญชาติไทย
พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าวว่า 10 เดือนแรก หรือเดือน ม.ค.-ต.ค. 2556 ดำเนินคดีด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 247 คดี เมื่อเทียบกับปี 2555 เพิ่มขึ้น 54% จำนวน 160 คดี

ทั้งนี้คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 510.85 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 47% ของมูลค่าความเสียหายช่วงเดียวกันปีก่อน โดยบริษัทกว่า 80% เป็นสัญชาติไทย กลุ่มธุรกิจที่ละเมิดสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ วิศวกรรมและการก่อสร้าง โรงงานผลิต และเครื่องจักร ตามลำดับ
“สถานการณ์กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไม่ได้แปลว่ามีละเมิดเพิ่ม ทว่าเจ้าหน้าที่มีมาตรการที่เข้มงวดต่อการปราบปรามและป้องกัน ควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิ์สอดคล้องนโยบายของกรมทรัพย์สินทางปัญญา”

อย่างไรก็ดี แนวทางปี 2557 เตรียมยกระดับการปราบปรามให้เข้มข้นมากขึ้น ทิศทางสำคัญคือทำงานร่วมกันระหว่าง บก.ปอท. ผู้ประกอบการให้เช่าพื้นที่ ผู้ค้ารายย่อย พร้อมๆ กับให้ความรู้ จูงใจผู้แจ้งแบะแสด้วยรางวัลนำจับ สรุปคือ จะมีทั้งจับ ปลอบ ขู่ เตือน รวมถึงสร้างนิสัยที่ดีควบคู่กันไป เนื่องจากหากทำงานแบบไร้ทิศทางย่อมไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำก่อเกิดผลเสียมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ กระตุ้นผู้บริหารองค์กรให้ตระหนักถึงความสำคัญ ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญญาให้ใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยขณะที่ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ยังแก้ไขไม่เสร็จ การบังคับทางคดี อิงตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นหลัก
ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลักประกอบด้วยอุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้าง การผลิต เครื่องจักร รับเหมาช่วงต่อ ยานยนต์และชิ้นส่วน การออกแบบและสถาปัตยกรรม ตัวแทนจำหน่ายและค้าส่ง ขอเตือนว่าตั้งแต่เดือนม.ค. ปีหน้าเป็นต้นไปอาจมีหมายจากเจ้าหน้าที่เข้าไปขอตรวจค้นโดยเฉพาะ 3 กลุ่มแรก เรียงลำดับความสำคัญตามจำนวนคดีที่เกิดขึ้นปีก่อนๆ

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังอยู่กลุ่มต้องจับตาเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) ตามรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐมาตรา 301 ส่งผลให้ยอดการส่งออกลดลง ทั้งถูกกีดกันทางการค้า ตัวเลขล่าสุดปี 2554 จาก 18 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อยู่ลำดับที่ 7 อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 72% มูลค่าความเสียหาย 26,498 ล้านบาท แต่คาดว่าขณะนี้น่าจะลดลงมาที่ระดับ 70% แล้ว
“การลงพื้นที่เข้าตรวจค้นกลุ่มธุรกิจองค์กรจะเพิ่มขึ้นอีก 30% โดยเป้าหมายใหญ่คือปลดไทยให้หลุดจากโผพีดับบลิวแอลซึ่งโฟกัสการละเมิด 3 กลุ่มคือ ยา, หนัง เพลง และซอฟต์แวร์ ขณะนี้หนังและเพลงไม่ค่อยมีปัญหาแล้ว เรื่องยายอมรับว่าคงยาก ขณะที่ซอฟต์แวร์กำลังพยายามเต็มที่และสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ” พร้อมระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังโดยเฉพาะบริษัทที่ทำการค้ากับบริษัทต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมไทยเมื่อการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนปี 2558 พร้อมแสดงให้เห็นว่าเป็นประเทศที่มีการคุ้มครองและกลไกช่วยป้องกันเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไอที-นวัตกรรม
22 พฤศจิกายน 2556 10:58