พลังโซเชียลมีเดียปลุกกระแสม็อบ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

พลังโซเชียลมีเดียปลุกกระแสม็อบ

Post by brid.ladawan »

พลังโซเชียลมีเดียปลุกกระแสม็อบ

โซเชียลมีเดียฟีเวอร์ปลุกกระแส คนไทยร่วมเกาะติดม็อบการเมือง ต้านนิรโทษกรรม-โค่นระบอบทักษิณ

นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และ นางสาวปัทมาภรณ์ ถนอมปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โซเชียลอิงค์ จำกัด ร่วมวิเคราะห์ “ปรากฏการณ์ม็อบนกหวีด” ในรายการ Business Talk ทาง กรุงเทพธุรกิจทีวี ออกอากาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา

การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ได้มีการ “ลักไก่” ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 1 พ.ย. มีนัยทางการเมืองที่กำลังสั่นคลอนรัฐบาล “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางและปัญญาชนในครั้งนี้ นอกจากจะมีผู้นำฝ่ายค้านและกลุ่มต่างๆ เป็นผู้จุดประเด็นแล้ว โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้กระแสการคัดค้านแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

นางสาวปัทมาภรณ์ กล่าวว่า จากการติดตามเหตุการณ์ของ โซเชียลอิงค์ ในระหว่างวันที่ 11 ต.ค. ถึง 12 พ.ย. พบว่ากระแสของการพูดถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม และการประท้วงคัดค้านต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย เริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ แต่วันที่ 6 พ.ย. เป็นวันที่มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการประท้วงมากที่สุด บนทุกๆ ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ คำว่า “สุดซอย” ได้กลายมาเป็นคำที่ฮิตกันชั่วข้ามคืน

บรรดาช่องทางต่างๆ นั้น ทวิตเตอร์เป็นสื่อที่มีจำนวนข้อความที่พูดถึงเรื่องการประท้วงมากที่สุดถึงกว่า 800,000 ข้อความ รองลงมา คือ อินสตาแกรม และ เฟซบุ๊คตามลำดับ ในส่วนของเว็บคอมมูนิตี้ เช่น เว็บพันทิปนั้นมีการโพสต์กระทู้บนเว็บบอร์ดจำนวนมาก ถึง 6 พันกระทู้ และมีการคอมเมนท์ถึง 190,000 คอมเมนท์ ในวันที่ 6 พ.ย. เพียงวันเดียว

ยุคม็อบโซเชียลมีเดียแทนม็อบมือถือ

นายอภิศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนชั้นกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือน มีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังนั้น พอมีประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมขึ้นมา คนเหล่านี้จึงเกิดความรู้สึกว่ามีความไม่ชอบมาพากลในบ้านเมือง ถ้าเหตุการณ์เดือนพ.ค. 2535 ถูกเรียกว่าเป็น “ม็อบมือถือ” หรือ “ม็อบ SMS” เพราะว่ามีการใช้โทรศัพท์มือถือส่ง SMS ส่งต่อข้อความแจ้งข่าวสารกัน ยุคนี้ก็จะเป็นยุคของ “ม็อบโซเชียลมีเดีย” เพราะว่ามีการใช้ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เว็บบอร์ด ในการแสดงออกความคิดเห็น และใช้ในการส่งต่อข่าวสาร หรือนัดแนะกัน อาทิ มีการแจ้งกันทางเฟซบุ๊คว่าวันนี้กลุ่มสีลมจะออกมาเป่านกหวีดกันเวลา 12.00 น. แล้วทุกคนก็ออกมาพร้อมกัน เนื่องจากต่างก็ทำงานกันอยู่แถวนั้นอยู่แล้ว ออกมาเป่านกหวีดทีหนึ่ง แล้วตอนบ่ายก็กลับไปทำงานต่อ เราจะเห็นว่าพลังของโซเชียลมีเดียถูกนำไปใช้ในการสื่อสารเป็นอย่างมาก

"ขณะเดียวกันในอีกมุมหนึ่ง อาจจะมีการมองว่าม็อบกลุ่มชนชั้นกลางนี้ วันๆ เอาแต่เล่นเฟซบุ๊ค ถ้าออกไปร่วมม็อบก็อาจจะออกไปถ่ายรูปนิดหน่อย แล้วแชร์ขึ้นเฟซบุ๊ค เสร็จแล้วก็ไปนั่งหน้าจอต่อ ความอดทนของคนในสมัยนี้ อาจจะไม่มีเหมือนสมัยก่อนแล้ว เพราะแต่ละคนต้องมีงานประจำที่ต้องทำกัน อันนี้ก็เป็นธรรมชาติของคนในยุคนี้"

นายอภิศิลป์ กล่าวอีกว่า บนเว็บบอร์ดของพันทิป ซึ่งมีผู้ใช้รวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านคนต่อวันนั้น กระแสได้ลามออกมาจากห้องราชดำเนิน มายังห้องอื่นๆ เช่น ห้องเฉลิมไทยซึ่งมีผู้ใช้สูงสุด เนื่องจากมีประเด็นในเรื่องของดารานักแสดงที่ออกมาแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ยังทำให้ดารานักแสดงบางคน ที่ก่อนหน้านี้คนบนโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ค่อยชอบเท่าไร ก็ได้รับความนิยมขึ้นมาในทันที

ปชช.แห่ใช้เฟซบุ๊คเคลื่อนไหวการเมืองมากที่สุด

นายอภิศิลป์ ย้ำว่า เท่าที่สังเกตดูพบว่าเฟซบุ๊คถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้มากที่สุด โดยมีการใช้ทั้งเฟซบุ๊คเพจ และกรุ๊ปในการแสดงความคิดเห็น และนัดแนะกันไปแสดงพลังมากที่สุด ในส่วนของไลน์นั้น ถือเป็นช่องทางที่มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีกรุ๊ปไว้พูดคุยกันในกลุ่มต่างๆ ส่วนตัวพบว่าในวันที่ 30 ต.ค. ที่เริ่มมีการประท้วงที่สามเสนนั้น ในกรุ๊ปต่างๆ เริ่มมีการถามกันว่าใครจะไปร่วมชุมนุมบ้าง ทำให้ได้รับทราบถึงกระแสที่เกิดขึ้นในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของบล็อกเกอร์ ซึ่งเป็น influencers หรือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์นั้น มองว่าแม้แต่ละคนอาจจะเป็นแค่คลื่นเล็กคลื่นน้อยที่เกิดขึ้นหลายๆ หย่อม แต่มีพลังที่จะช่วยโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งนี้เมื่อเรามองว่าไลน์ทำหน้าที่เป็นเหมือน SMS ในสมัยก่อน ไลน์ก็ช่วยให้เราจับกระแสได้จากเพื่อนๆ ที่อยู่ในไลน์ ซึ่งเราจะมีเพื่อนกลุ่มต่างๆ อาทิ เพื่อนที่อยู่ในคอนโดมิเนียมที่เดียวกัน เพื่อนสมัยเรียน เมื่อทุกๆ คนมาถามเราหมดเลย หรือมาชวนเราให้ออกไปร่วมม็อบ

"แต่ผมมีประเด็นตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่า ในยุค พฤษภา 2535 คนใช้มือถือเพื่อส่ง SMS เพราะยุคนั้นรัฐปิดกั้นสื่อ ทำให้คนไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนใช้ SMS สื่อสาร เนื่องจากถูกปิดหูปิดตาจากสื่อหลัก แต่ยุคโซเชียลมีเดียปิดไม่ได้ คนสามารถสื่อสารกันได้ผ่านทุกช่องทาง ทำให้เรารู้สถานการณ์ผ่านโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้องออก คิดว่าไม่ต้องออกมาหรือเปล่า คนออกมาเยอะแล้ว เราไม่ต้องออกก็ได้"นายอภิศิลป์ ย้ำ

นายอภิศิลป์ ยังชี้ว่า โซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นภาพว่าคนไทยทั่วโลกไม่เห็นด้วย คิดว่าสิ่งที่ดีที่สุด คือ รัฐบาลต้องแสดงความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หลายๆ คนกำลังเรียกร้องคำขอโทษจากปากนายกฯ หรือ ส.ส. ที่โหวตผ่าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

ในส่วนของ change.org ที่มีผู้ลงนามคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านช่องทางนี้แล้วกว่า 6 แสนราย ได้กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแสดงพลังของประชาชน ที่ได้ส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลว่าประชาชนไม่เห็นด้วย

6 พ.ย.อัพรูปอินสตาแกรม กว่า 3.2 พันรูป

นางสาวปัทมาภรณ์ ยังชี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้เฟซบุ๊ค ทั้งสิ้น 24 ล้านคน โดยเฉพาะในกทม. มีถึง 13 ล้านคน ในส่วนของทวิตเตอร์มีผู้ใช้ 2.23 ล้านคน แต่เป็นแอคทียูสเซอร์เพียงประมาณ 2 แสนคนเท่านั้น ส่วนอินสตาแกรมมีอัตราการเติบโตสูงมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้ถึง 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีคนอัพโหลดรูปลงบนอินสตาแกรมประมาณ 32 ล้านรูป แต่เฉพาะในวันที่ 6 พ.ย. เพียงวันเดียว พบว่ามีคนอัพรูปที่เกี่ยวกับการประท้วงลงอินสตาแกรมถึง 3,200 รูป ในส่วนของ influencers หรือผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลนั้น พบว่า “แตงโม ภัทรธิดา” ที่ถ่ายรูปแล้วขึ้นข้อความว่า “ถึงหนูจะสวย หนูก็เป่านกหวีดดังมากนะคะ” เป็นทวีตที่ได้รับการกดไลค์สูงที่สุดถึง 16,800 ไลค์ อันดับ 2 คือ “หมอก้อง ลูกกอล์ฟ” ดาราช่อง 3 ที่ได้ 15,700 ไลค์ และอันดับ 3 “คุณครู ลูกกอล์ฟ” ดาราซิท-คอม ที่โพสต์รูปโปรไฟล์ที่ไปถ่ายหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำนวน 11,700 ไลค์ นอกจากนี้ยังพบปรากฏการณ์ที่เพื่อนเราทุกคนบนไทม์ไลน์เปลี่ยนไปใช้โปรไฟล์อันเดียวกันหมด หรือมีการแปลงคำ “คัดค้าน” ไปเป็นเรื่องอื่นๆ

ผู้หญิงกว่า40%เกาะติดม็อบการเมือง

นางสาวปัทมาภรณ์ บอกด้วยว่าถ้าดูจากไทม์ไลน์บนเฟซบุ๊ค จะเห็นว่าเกิดกระแสการคัดค้านอย่าง “สุดกำลัง” พบว่า เฉพาะในวันที่ 6 พ.ย. เพียงวันเดียว มีคนตั้ง status มากถึง 24,000 status และมีการแชร์มากถึงประมาณ 5 แสนครั้ง แสดงว่าต้องมีคนเห็นเป็นหลักล้านแน่นอน

จากการติดตามของ โซเชียลอิงค์ ยังพบว่าในครั้งนี้ผู้หญิงมีส่วนร่วมถึง 40% ทั้งๆที่ปกติแล้วในประเด็นทางการเมือง 70% จะเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือการมีส่วนร่วมของผู้ชาย นอกจากนี้ยังพบว่าการแชร์บนโซเชียลมีเดีย ที่มีการแชร์รูปเพื่อนๆ หรือรูปนักศึกษาปัญญาชนต่างๆ ไปร่วมม็อบเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้หญิงมีความมั่นใจที่จะกล้าออกไปร่วมชุมนุมมากขึ้น จากที่อาจจะมีประเด็นความเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย

นางสาวปัทมาภรณ์ บอกว่า ทุกครั้งที่เกิดกระแสบนโซเชียลมีเดีย มักจะมีกลุ่มของคนที่คิดเห็นไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการชอบหรือไม่ชอบอะไรก็ตาม ที่จะสามารถช่วงชิงโน้มน้าวให้คนอื่นๆ เห็นตามไปด้วย

"พอเราเห็นเพื่อนเป็นอย่างนั้น เราก็ชอบด้วย ทั้งที่ตอนแรกเราอาจจะอยู่ในมุมเงียบๆ มืดๆ ทั้งๆ ที่บางทีเราคิดอยู่แล้ว แต่มั่นใจมากขึ้น การที่เพื่อนพูด เราเชื่อเพื่อน"นางสาวปัทมาภรณ์ ย้ำ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไอที-นวัตกรรม
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 08:47
โดย : พิชญ ช้างศร
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”