ปลายเดือนมีลุ้นเห็นดาวหาง

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ปลายเดือนมีลุ้นเห็นดาวหาง

Post by brid.ladawan »

ปลายเดือนมีลุ้นเห็นดาวหาง

สดร.ชวนคนไทยลุ้นดูดาวหางไอซอน เฉียดดวงอาทิตย์ 28 พย.นี้ เผยหากฟ้าใสไร้เฆมมีโอกาศเห็นดาวหางในช่วงเวลาเดียวกันถึง4 ดวง ย้ำไม่มีผลต่อโลก

วันนี้ (21 พ.ย.) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. จัดแถลงข่าว “ ชวนคนไทยลุ้นชมดาวหางไอซอนปลายพฤศจิกายนนี้ “ โดยมีรศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสดร. เป็นประธานในการแถลงข่าว

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า ดาวหางไอซอนถูกค้นพบตั้งแต่เดือนกันยายน ปี2555 และเป็นที่ฮือฮาของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกเคยคาดกันว่าจะสว่างถึงขนาดเท่าดวงจันทร์ แต่จากการเฝ้าติดตามก่อนหน้านี้พบว่าดาวหางดังกล่าวอาจไม่สุกสว่างมากอย่างที่คาด อย่างไรก็ดีในช่วงต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา จากการเฝ้าติดตามและถ่ายภาพ พบว่าดาวหางดวงนี้มีพัฒนาการของความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ดาวหางไอซอนมีการประทุของก๊าซออกมา ส่งผลให้ความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างมาก และกลับมาเป็นที่สนใจอย่างมากของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกอีกครั้ง แต่ยังคงต้องใช้กล้องสองตาช่วยในการสังเกต

ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า จากนี้ไปก็คงต้องลุ้นกันว่าดาวหางไอซอนจะสว่างพอที่จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่ ก่อนที่จะโคจรเข้าสู่จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 พ.ย. 2556 ซึ่งอยู่ห่างจากผิวดวงอาทิตย์ เพียง 1.2 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น และทำให้ดาวหางไอซอนมีอุณหภูมิสูงถึง 2,000 องศาเซนเซียส ซึ่งอาจจะระเหิดไปหมด หรือแตกเป็นเสี่ยงได้ แต่พิจารณาจากขนาดและการโคจรแล้ว มีโอกาสค่อนข้างมากที่ดาวหางไอซอนจะรอดกลับมาให้เราได้ชมดาวหางที่สว่างและสวยงามอีกครั้งหนึ่งในต้นเดือน ธ.ค.

“ในช่วงเวลาที่ดาวหางไอซอนมาเยือนโลก คนไทยยังมีโอกาสสังเกตเห็นดาวหางคาบสั้นอีก 3 ดวง ในเวลาเดียวกันอีกด้วย คือ ดาวหางเลิฟจอย (Lovejoy X1) ดาวหางลีเนีย (LINEAR X1) และดาวหางเองเค (2P Enke) โดยใน3ดวงนี้ดาวหางที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ดาวหางเลิฟจอย ที่ถูกค้นพบ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา มีความสว่างปานกลาง และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 23 ธ.ค. 2556 ตามเวลาประเทศไทย ส่วนดาวหางลีเนีย เป็นดาวหางที่ค้นพบนานแล้วแต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมามีความสว่างอีกครั้ง”

อย่างไรก็ดี ดร.ศรัณย์ ยืนยัน ว่า การเกิดปรากฎการณ์ดาวหางเยือนโลกทั้ง 4 ดวง ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ รวมถึงการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และอยู่ห่างไกลจากโลกมาก ปัจจุบันมีการค้นพบดาวหางได้มากขึ้นเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ซึ่งนักดาราศาสตร์จะใช้ดาวหางในการศึกษาถึงที่มาของเอกภพ รวมถึงเรื่องสนามแม่เหล็กต่าง ๆ

สำหรับดาวหางไอซอน เป็นดาวหางคาบยาว เนื่องจากมีคาบการโคจรนานกว่า300 ปี และเป็นดาวหางใหม่ที่เข้ามาในระบบสุริยะเพียงเที่ยวเดียว และจะไม่กลับมาอีก เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 พ.ย. 2556 แต่เนื่องจากเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถมองเห็นได้เพราะถูกแสงของดวงอาทิตย์กลบ ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูดาวหางไอซอน คือประมาณช่วงก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 15-25 พ.ย. 2556 และหลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 3-15 ธ.ค. 2556 เวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออกก่อนอาทิตย์ขึ้น บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว การสังเกตดาวหางจะยิ่งชัดเจนขึ้น ถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยาย 20-30 เท่า หรือใช้กล้องสองตา กำลังขยาย 7 เท่า ก็พอมองเห็นได้

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเกาะติดสถานการณ์ของดาวหางไอซอนได้ที่เว็บไซต์ สถาบันฯ www.narit.or.th หรือ Facebook: www.facebook.com/NARITpage หรือ Twitter: @N_Earth หรือ Instagram: @NongEarthNARIT

ที่มา :หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2556
by www.CreditOnHand.com
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”