Page 1 of 1

อีเอ็มซี คาดปี57 องค์กรต้องอัพระบบไอที รับมือบิ๊กดาต้า-คลาวด

Posted: 11 Jan 2014, 16:30
by brid.ladawan
อีเอ็มซี คาดปี57 องค์กรต้องอัพระบบไอที รับมือบิ๊กดาต้า-คลาวด์


อีเอ็มซี สรุปภาพรวมไอทีปี 56 เป็นการหลวมรวมของโมบิลิตี้จากเทรนด์ BYOD คลาวด์ โซเชียล คอมพิวติ้ง และการเติบโตของบิ๊กดาต้า ที่หลายองค์กรต้องการนำเอาระบบมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ ชี้ปี 57 ทุกองค์กรต้องยกระดับระบบไอทีที่ไว้ใจได้ เพื่อรับกับบิ๊กดาต้า ใช้งานคลาวด์หลังจากอินเทอร์เน็ตขยายตัว...

นายนฐกร พจนสัจ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมของเทรนด์เทคโนโลยีด้านไอทีในปี 2556 ว่า ในปี 2556 ขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผันผวน สะเทือนไปทั่วโลก ภูมิภาคเอเชียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงมีเสถียรภาพในปี 2557 มุมมองการปรับใช้เทคโนโลยี เกิดจากแรงกดดันจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยพลังแห่งการหลวมรวมของโมบิลิตี้ คลาวด์ โซเชียล คอมพิวติ้ง และอินฟอร์เมชั่นจนเป็นหนึ่งเดียว

ผจก.ประจำประเทศไทย บ.อีเอ็มซี กล่าวว่า ในรายงานล่าสุดของบริษัทการ์ทเนอร์ มองว่าการหลอมรวมเทคโนโลยี จะเป็น แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทางด้านไอทีขององค์กรขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก และเพื่อสานต่อการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง อีเอ็มซีประกาศโซลูชั่นใหม่ที่มุ่งให้องค์กรเสริมสร้างความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นและโมบิลิตี้ สร้างความคล่องตัวในฟังก์ชันธุรกิจ และความปลอดภัยเพื่อจะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับในองค์กร ปริมาณข้อมูลขนาดใหญ่ที่เติบโตเพิ่มขึ้นมหาศาล และการคาดการณ์ต่อดิจิทัล ยูนิเวอร์ส ซึ่งคะเนว่าข้อมูลจะเพิ่มเป็น 40 เซตตะไบต์ (Zettabyte) ภายในปี 2563 ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักว่า แนวทางแบบดั้งเดิมที่เป็นไซโล แยกส่วนการจัดการและนำส่งข้อมูล ไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนในการจัดการข้อมูลที่เติบโตขึ้น

นายนฐกร กล่าวอีกว่า ลูกค้าองค์กรมีความต้องการที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพับลิคคลาวด์ โดยปราศจากแรงกดดันจากพับลิคคลาวด์ ผลจากการสนทนากับลูกค้านี้เอง ทำให้ความต้องการ EMC ViPR เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ViPR เป็นแพลตฟอร์ม Software Defined Storage แรกของโลกที่ทำให้ภาคธุรกิจจัดการโครงสร้างพื้นฐานสตอเรจ และข้อมูลได้ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้วางตลาดพร้อมกับ พอร์ทโฟลิโอ มิด-เรนจ์ และแฟลช อะเรย์ ที่ ช่วยให้ธุรกิจ ทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

การเพิ่มขึ้นของบิ๊กดาต้า ยังทำให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนมุมมองเรื่องพลังการวิเคราะห์ของบิ๊กดาต้า ในปี 2556 ได้เห็นการเปิดตัวพิโวทอล (Pivotal) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอีเอ็มซี วีเอ็มแวร์ และจีอี ที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ของแพลตฟอร์มแอสอะเซอร์วิส (PaaS) สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับ อินโฟคอมม์ ดีเวลล้อปเม้นท์ ออโธริตี้ (IDA) ของสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทได้ประกาศเปิดตัว พิโวทอล อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ในสิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในเอเชีย สร้างต้นแบบเพื่อศึกษาความเป็นได้ และประเมินความคุ้มค่าการลงทุนของแอพพลิเคชั่นเพื่อการวิเคราะห์ระดับสูงและเทคโนโลยีแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้า

ผจก.ประจำประเทศไทย บ.อีเอ็มซี กล่าวต่อว่า การเติบโตของบิ๊กดาต้า แนวโน้มของการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ในองค์กร (Bring Your Own Device - BYOD) และการนำแอพพลิชั่นบุคคลมาใช้ในองค์กร (Bring Your Own Application - BYOA) และการเข้าถึงข้อมูลโดยใช้อุปกรณ์และแพลตฟอร์มที่หลากหลายต้องการการปกป้องข้อมูลอย่างสูงที่สุด จากความซับซ้อนที่การโจมตีระบบมีปริมาณมากขึ้น อาร์เอสเอ (RSA) กลุ่มธุรกิจด้านความปลอดภัยของอีเอ็มซี ได้เปิดตัวโซลูชั่นอาร์เอสเอ ซีเคียวริตี้ อะนาไลติกส์ (RSA Security Analytics) และซิลเวอร์เทล (Silver Tail) เพื่อให้ภาคธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถด้านความปลอดภัยในการปกป้องสินทรัพย์ดิจิตอลจากภัยคุกคามที่พัฒนาไปอย่างมากทั้งภายในและภายนอกองค์กร

แนวโน้มของตลาดไอทีในปี 2557

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเอเชียจะยังคงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะเติบโต 5.3% ในปี 2557 เพิ่มจาก 5.1% ในปี 2556 หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บาร์ท แวน อาร์ค ระบุว่า ภูมิภาคอาเซียน รวมประเทศอินเดียและจีน มีความเป็นไปได้ที่จะเป็น "รัฐแห่งอนาคต" ในด้านเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมธุรกิจ ทำให้คาดคะเนภาพรวมได้ว่าจะยังคงมีเสถียรภาพ และมีการเติบโตทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีด้วย ทั้งนี้ การเติบโตเชิงบวก แนวโน้มธุรกิจในเอเชียจะยังคงลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น โดยการ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายทางด้านไอทีในภูมิภาค จะสูงถึง 767 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 เติบโตขึ้น 5.5% จากปี 2556 เมื่อมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซีฯ กล่าวถึงการคาดการณ์ถึงความเติบโตทางด้านไอทีในป่ี 2557 ดังนี้:

การปรับเปลี่ยนทางด้านไอที: การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีการขยายตัวเกินกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือเข้าสู่สินทรัพย์ขององค์กร เช่น อุปกรณ์ภาคสนามและอุปกรณ์ของผู้บริโภคทั่วไป เช่น รถยนต์และโทรทัศน์ ปัญหาก็คือ องค์กรส่วนใหญ่และผู้ค้าเทคโนโลยี ยังคงไม่มองหาโอกาสจากการขยายตัวด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ต และยังคงไม่ได้นำไปใช้จริง หรือเพราะองค์กรยังไม่พร้อม การ์ทเนอร์ ระบุว่า การจัดการ, การสร้างรายได้, การดำเนินงาน และการเพิ่มขยาย จะเป็นสี่รูปแบบพื้นฐานที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบ "อินเทอร์เน็ต" ทั้งสี่ประเภท คือ คน สิ่งของ สารสนเทศ และสถานที่ เวอร์ชวลไลเซชั่นและบริการในรูปแบบของคลาวด์ จะเป็นเส้นทางหลักของการเปลี่ยนผ่านทางด้านไอที ในปี 2557 จะเป็นปีที่องค์กรซึ่งมีมาตรฐานทางด้านไอทีในระดับสูง จะปฏิรูปแอพพลิเคชั่น โครงสร้างพื้นฐาน และขีดความสามารถของการกู้คืนข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อธุรกิจในการก้าวย่างเข้าสู่ยุคของโมบิลิตี้ และ บิสิเนส อินทิลิเจนท์


บิ๊กดาต้า: ในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศญี่ปุ่น บิ๊กดาต้า มีแนวโน้มการใช้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยในการตัดสินใจ อีกทั้งยังมีผลกระทบที่สำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างความแตกต่าง และลดความเสี่ยง ในผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยอีเอ็มซี ระบุว่า 83% ของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก มองว่าการใช้บิ๊กดาต้า จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น ในขณะที่ 49% ระบุว่าสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และ 68% เชื่อว่าบิ๊กดาต้าจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดผู้ได้รับชัยชนะและผู้ปราชัยในธุรกิจอุตสาหกรรมได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อบิ๊กดาต้ามีการใช้อย่างแพร่หลาย อีเอ็มซีระบุว่าวัฒนธรรมจะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อความสำเร็จ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 29% ชี้ว่า ยังไม่พร้อมด้านวัฒนธรรมธุรกิจ

ความพยายามที่จะนำบิ๊กดาต้ามาปรับใช้งานให้ง่ายขึ้น อีเอ็มซีและพิโวทอล จะยังคงสานต่อการทำบิ๊กดาต้าให้ใช้งานได้แพร่หลายยิ่งขึ้น การเป็นพันธมิตรของ อินโฟคอมม์ ดีเวลลอปเม้นท์ ออโธริตี้ (IDA) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งประกาศในปีนี้ จะยังคงสร้างนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (data scientists) ให้เพิ่มขึ้น และให้ลูกค้าสามารถเร่งทำต้นแบบที่จะดูความเป็นไปได้และประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนของแอพพลิเคชั่น การวิเคราะห์ระดับสูงและเทคโนโลยี แพลตฟอร์มบิ๊กดาต้า

ระบบไอทีที่ไว้วางใจได้: ในปี 2556 เห็นช่องโหว่ของระบบความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น และมีการโจมตีแบบเจาะจงเป้าหมาย จากผลสำรวจที่สนับสนุนโดยอีเอ็มซี พบว่าองค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิก ประเมินค่าความเสียหายจากข้อมูลที่รั่วไหลได้ถึง 945,187 ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 860,273 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผลสำรวจพบด้วยว่า ความเสียหายครอบคลุมการสูญเสียรายได้ (42%) ผลิตภาพ (41%) ความภักดีของลูกค้า (36%) และการสูญเสียธุรกิจให้กับคู่แข่ง (35%)

นายนฐกร กล่าวด้วยว่า สำหรับธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในปี 2557 แม้ในภาวะที่งบประมาณจำกัด อีเอ็มซีแนะว่า จะต้องเน้นการวางแผน (40%) และพัฒนาองค์ความรู้และทักษะ (38%) ในองค์กรที่ใช้ไอทีระดับก้าวหน้า ความสำเร็จของการต่อสู้กับภัยคุกคามทางด้านไอทีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นผลมาจากกระบวนการที่ดี และนำเครื่องมือไอทีมาปรับใช้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อติดตามภัยคุกคามใหม่ๆ และปรับตัวตามประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ การยกระดับการใช้ไอทีไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทฟอร์จูน 500 หรือบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทุกองค์กรจำ เป็นต้องยกระดับการใช้ไอทีเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และชื่อเสียงต่อลูกค้า ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ทั้งนี้ อีเอ็มซีจะยังคงมีจุดยืนที่มุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งในนวัตกรรม และสร้างการเติบโตของลูกค้าที่จะเข้าสู่คลาวด์ คอมพิวติ้ง ช่วยเหลือองค์กรให้จัดเก็บ จัดการ ปกป้องและวิเคราะห์ข้อมูลได้คล่องตัว เชื่อถือได้ และใช้ต้นทุนต่ำ.


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
2 มกราคม 2557