Page 1 of 1

มวลมหาเทคโนโลยี

Posted: 08 Feb 2014, 11:34
by brid.ladawan
มวลมหาเทคโนโลยี


การเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนที่กำลังคึกคักขีดสุดอยู่ในขณะนี้ มีกำนันสุเทพขึ้นปราศรัยได้ไม่เว้นแต่ละวัน ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษสำหรับบ้านเรา และอาจพิเศษสำหรับเวทีการเมืองของโลกด้วยก็ว่าได้โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีของการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นมือตบเจ้าเก่า นกหวีด โบคาดผม แว่นตาโต เพนต์สี เสื้อ หมวก เข็มขัด ธงยักษ์ ปิกนิก และพร็อพสารพัดที่สุดจะคิดสรรค์สร้างกันขึ้นมา

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือบรรดาเทคโนโลยีไฮเทคร่วมสมัยที่ทำให้การชุมนุมนี้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลองไล่เรียงเทคโนโลยีเหล่านี้กันดูสิครับ

1. บีทีเอส หรือ เอ็มอาร์ที ที่ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากเคลื่อนไหวไปมาตามจุดต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ติดขัด ติดแอร์อีกต่างหาก

2. มือถือที่ทำให้กระจายข่าวและนัดหมายภายในกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้แม้จะอยู่บนท้องถนน

3. กล้องดิจิทัล ทั้งที่แฝงอยู่ในมือถือและของระดับมือโปร ทำให้เก็บภาพและวิดีโอได้อย่างครอบคลุม ฉับไว

4. 3G และ WIFI ที่ติดตั้งกระจายตัวอย่างครอบคลุมทำให้ส่งข้อความและรูปภาพได้รวดเร็ว ในราคาย่อมเยา ทั้งแบบเหมาจ่ายและคิดตามวัน

5. ADSL หรืออินเทอร์เน็ตตามบ้านที่กระจายตัวออกไปมากในราคาย่อมเยาและคุณภาพความเร็วเป็นที่ยอมรับได้

6. แอพต่าง ๆ ที่เป็นโซเซียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊ก ที่ช่วยให้การส่งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ รวมถึงการรายงานข่าวต่าง ๆ ทำได้อย่างสะดวกและกระจายตัวอย่างทั่วถึง

7. จานดาวเทียมที่ทำให้ช่องทีวีทางเลือกอย่าง BlueSky สามารถเปล่งรัศมีเบียดการออกอากาศของทีวีของทางการได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

8. SkyCam ที่ติดกล้องไปกับเฮลิคอปเตอร์จิ๋วเพื่อถ่ายภาพมุมสูงของการชุมนุม

9. จอทีวียักษ์และลำโพงใหญ่ทำให้ผู้ชุมนุมรับชมภาพและเสียงบนเวทีได้ชัดเจน

10. เต็นท์ยักษ์และซองมาม่าสุดเหนียวที่ทำให้ผู้ชุมนุมนั่งชมตามเวทีต่าง ๆ ได้สะดวกสบาย

การเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนที่กำลังคึกคักขีดสุดอยู่ในขณะนี้ มีกำนันสุเทพขึ้นปราศรัยได้ไม่เว้นแต่ละวัน ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษสำหรับบ้านเรา
ให้สังเกตว่าหากเป็นเมื่อห้าหรือสิบปีก่อน ขณะที่เทคเหล่านี้ยังเริ่มหัดเดิน เน็ตตามบ้านก็ช้าและลุ่ม ๆ ดอน ๆ สมาร์ทโฟนก็ยังแพงและมีใช้กันน้อย จานดาวเทียมก็ขนาดเท่ากะละมังยักษ์ราคาแพง ส่งข้อความก็แค่เอสเอ็มเอส ครั้งละ 2-3 บาท ผู้คนยังกลัว ๆ กล้า ๆ ที่จะขึ้นบีทีเอส มือถือก็มีแค่ Edge ความเร็วต่ำติดดินให้ใช้ การชุมนุมในลักษณะนี้จะไม่อาจเกิดขึ้น หรือไม่อาจดำเนินต่อเนื่องอย่างที่เป็นอยู่ได้ การประจวบเหมาะของการเติบใหญ่ของเทคเหล่านี้ทำให้เกิด “ทางเลือก”สำหรับบรรดาผู้เคลื่อนไหว ในมิติที่อาจกล่าวได้ว่าเกินกว่าที่ภาครัฐจะ “ตระหนัก” ถึงศักยภาพและสมรรถภาพของเทคเหล่านี้จนไม่ได้มีการเตรียมการรองรับเมื่อเผชิญกับการคุกคามของผู้ชุมนุมผ่านเทคพวกนี้

ทำให้หวนนึกไปถึงเทคอย่างเอสเอ็มเอส ที่ผู้คนของประเทศฟิลิปปินส์เคยใช้โค่นล้มผู้นำของเขาได้สำเร็จมาแล้วโดยที่ฝ่ายรัฐนั้นได้เข้าควบคุมสื่อต่าง ๆ อย่างทีวีและวิทยุไว้เบ็ดเสร็จ แต่ “ลืม” คุมเอสเอ็มเอสไปเสียได้

ส่วนของบ้านเรานั้นจะสำเร็จหรือไม่คงต้องติดตามกันวันต่อวันด้วยใจระทึก มือก็กำเทคไว้แน่น ๆ ครับ

ปล. ต้องขอบคุณ รศ.ดร.ทวิตีย์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา สำหรับชื่อเรื่องเก๋ไก๋ของ 1001 ตอนนี้ครับ.

ดร.ยรรยง เต็งอำนวย

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีเมลYunyong.T@Chula.ac.th

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์
7 กุมภาพันธ์ 2557