ยังไม่ถึงเวลาใช้ซิตี้แก๊ส : ดวงพักตรา ไชยพงษ์
Posted: 10 Mar 2014, 13:10
ยังไม่ถึงเวลาใช้ซิตี้แก๊ส : ดวงพักตรา ไชยพงษ์
ปัจจุบันระบบการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนในเมืองไทย ยังคงเป็นระบบการจัดส่งในรูปแบบ "ถัง" ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะมีถังแอลพีจีเป็นของตัวเอง เมื่อใช้หมดก็จะสั่งซื้อจากร้านค้าแอลพีจี ซึ่งจะบริการขนส่งมาให้ถึงบ้าน เชื่อว่าระบบดังกล่าวคงเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยเกือบทุกคนในขณะนี้
แต่ในต่างประเทศหลายประเทศมีการใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนแบบระบบ "ท่อส่ง" ซึ่งแตกต่างจากบ้านเรามาก โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแบบอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ ล้วนแต่อาศัยแอลพีจีทางท่อส่งทั้งสิ้น หากนึกภาพไม่ออก ก็ลองนึกถึงท่อน้ำประปาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะใช้เมื่อไหร่ก็เปิดก๊อกน้ำ แล้วน้ำก็จะไหลออกมาตลอด
แอลพีจีระบบท่อก็เช่นกัน ในอพาร์ตเมนต์ทุกห้องจะมีท่อแอลพีจีติดตั้งไว้ให้ เมื่อต้องการใช้ประกอบอาหาร ก็แค่เพียงเปิดวาล์วก๊อกเท่านั้น ก็สามารถใช้แอลพีจีได้ตลอด ซึ่งสะดวกสบายต่อผู้ใช้และผู้จำหน่ายที่ไม่ต้องคอยขนถังก๊าซแอลพีจี ลดภาระค่าขนส่ง และอุบัติเหตุการขนส่งบนท้องถนน
ทั้งนี้ ระบบจัดส่งก๊าซแอลพีจีทางท่อดังกล่าว เป็นที่รู้จักกันในนาม “ซิตี้แก๊ส” หรือแก๊สสำหรับใช้ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีตึกที่อยู่อาศัยจำนวนมาก และที่ผ่านมาประเทศไทยโดยกระทรวงพลังงาน ได้ทำการศึกษาระบบดังกล่าวเพื่อเตรียมนำมาใช้ในเมืองไทยเช่นกัน แต่ก็มีกระแสไม่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันซิตี้แก๊สยังเป็นเพียงแค่การศึกษาข้อมูลเท่านั้น
ล่าสุด กระทรวงพลังงานเริ่มเปรยๆ แล้วว่า ซิตี้แก๊สคงเกิดขึ้นในเมืองไทยได้ยาก และอาจจะล้มพับโครงการดังกล่าวออกไป เนื่องจากระบบจัดส่งแบบถังก๊าซแอลพีจีก็ยังไม่มีข้อเสียหายอันใดใหญ่หลวงให้เห็น อีกทั้งห่วงโซ่ธุรกิจแอลพีจีก็มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งร้านค้าแอลพีจี ลูกจ้างร้านค้า โรงบรรจุ โรงกลั่น ซึ่งล้วนยึดติดระบบถังกันมานาน หากมีการเปลี่ยนแปลงจะกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจดังกล่าว ซึ่งต้องศึกษาอย่างรอบคอบ
ที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย แม้ระบบการจัดส่งแอลพีจีทางท่อจะสะดวกและปลอดภัยมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น และหน่วยงานในไทยที่เกี่ยวข้องกับระบบดังกล่าวต่างแวะเวียนไปศึกษาดูงานซิตี้แก๊สกันหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำกลับมาใช้ในเมืองไทยได้
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสังคมไทยกับญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันอย่างมาก และเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในการเคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบและกฎหมาย โดยคนญี่ปุ่นจะอยู่ในกรอบกติกาสังคมอย่างเหนียวแน่น แต่คนไทยยึดหลักอิสระเสรี คือ ไทยแท้ ดังนั้น ระบบซิตี้แก๊สหากนำมาใช้ในเมืองไทยจะเกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูงมาก นับตั้งแต่การก่อสร้างตึก หากมีการคอร์รัปชันก่อสร้างตึกไม่ได้มาตรฐาน จะกระทบต่อระบบซิตี้แก๊สทันที
นอกจากนี้ ความประมาท รวมถึงความไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ซิตี้แก๊สส่วนรวม ย่อมนำมาซึ่งอุบัติภัยร้ายแรงได้ และการที่ไทยเป็นประเทศเมืองร้อน ปัญหาไฟไหม้ ก็อาจนำพามาซึ่งการระเบิดของระบบซิตี้แก๊สทั้งตึกได้เช่นกัน รวมถึงปัญหาการก่อการร้าย การเรียกร้องทางการเมือง ที่อาจยึดระบบซิตี้แก๊สเป็นตัวประกัน และคงไม่ต่างอะไรกับที่ครั้งหนึ่งในการต่อต้านการเมือง เกิดการยึดรถขนส่งแอลพีจีเป็นตัวประกัน สร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมไทยไม่น้อย กลัวจะเกิดการจุดระเบิดรถขนส่งแอลพีจีในครั้งนั้น แต่สุดท้ายก็สามารถเข้าแก้ไขและป้องกันได้ทันท่วงที และเป็นบทเรียนให้ระมัดระวังป้องกันไม่ให้รถขนส่งพลังงานถูกยึดเป็นตัวประกันอีก
ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น แม้ประเทศไทยจะนำระบบความปลอดภัยด้านการใช้ซิตี้แก๊สมาใช้ หรือเป็นระบบสากลที่ได้มาตรฐานป้องกันอุบัติภัยจากการใช้ก๊าซทางท่อได้ แต่เชื่อว่าปัญหาอุบัติภัยกับระบบซิตี้แก๊สอาจจะเกิดจากความประมาทและอุปนิสัยของมนุษย์มากกว่าระบบ และเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่สามารถติดตั้งระบบซิตี้แก๊สได้ เพราะสังคมยึดติดระบบกรอบกติกาสังคมเป็นสำคัญ หากฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษทางกฎหมายที่รุนแรง และทำให้ชีวิตตกต่ำลงอย่างหนักได้ ดังนั้น คนญี่ปุ่นจะทำสิ่งใดย่อมคำนึงถึงกฎระเบียบเป็นหลัก ทำให้ปัญหาที่อาจเกิดกับระบบซิตี้แก๊สมีน้อยมาก และสามารถนำมาใช้ในสังคมได้
ดังนั้น เทคโนโลยีความก้าวหน้าในเรื่องระบบการจัดส่งก๊าซ หรือพลังงานใดๆ ก็ตามของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมกับสภาพสังคม อุปนิสัยคนไทย เศรษฐกิจ และประโยชน์ที่เกิดกับประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ในยุคปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะใช้ระบบซิตี้แก๊ส การศึกษาเรียนรู้ไม่ใช้เรื่องเสียหาย แต่การจะเดินหน้านำมาใช้ต้องคิดให้ดี คิดให้หนัก รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุบัติภัยที่ร้ายแรงกับประเทศไทย.
ที่มา ไทยโพสต์
วันที่ 10 มีนาคม 2557
ปัจจุบันระบบการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนในเมืองไทย ยังคงเป็นระบบการจัดส่งในรูปแบบ "ถัง" ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะมีถังแอลพีจีเป็นของตัวเอง เมื่อใช้หมดก็จะสั่งซื้อจากร้านค้าแอลพีจี ซึ่งจะบริการขนส่งมาให้ถึงบ้าน เชื่อว่าระบบดังกล่าวคงเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยเกือบทุกคนในขณะนี้
แต่ในต่างประเทศหลายประเทศมีการใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนแบบระบบ "ท่อส่ง" ซึ่งแตกต่างจากบ้านเรามาก โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแบบอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ ล้วนแต่อาศัยแอลพีจีทางท่อส่งทั้งสิ้น หากนึกภาพไม่ออก ก็ลองนึกถึงท่อน้ำประปาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะใช้เมื่อไหร่ก็เปิดก๊อกน้ำ แล้วน้ำก็จะไหลออกมาตลอด
แอลพีจีระบบท่อก็เช่นกัน ในอพาร์ตเมนต์ทุกห้องจะมีท่อแอลพีจีติดตั้งไว้ให้ เมื่อต้องการใช้ประกอบอาหาร ก็แค่เพียงเปิดวาล์วก๊อกเท่านั้น ก็สามารถใช้แอลพีจีได้ตลอด ซึ่งสะดวกสบายต่อผู้ใช้และผู้จำหน่ายที่ไม่ต้องคอยขนถังก๊าซแอลพีจี ลดภาระค่าขนส่ง และอุบัติเหตุการขนส่งบนท้องถนน
ทั้งนี้ ระบบจัดส่งก๊าซแอลพีจีทางท่อดังกล่าว เป็นที่รู้จักกันในนาม “ซิตี้แก๊ส” หรือแก๊สสำหรับใช้ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีตึกที่อยู่อาศัยจำนวนมาก และที่ผ่านมาประเทศไทยโดยกระทรวงพลังงาน ได้ทำการศึกษาระบบดังกล่าวเพื่อเตรียมนำมาใช้ในเมืองไทยเช่นกัน แต่ก็มีกระแสไม่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันซิตี้แก๊สยังเป็นเพียงแค่การศึกษาข้อมูลเท่านั้น
ล่าสุด กระทรวงพลังงานเริ่มเปรยๆ แล้วว่า ซิตี้แก๊สคงเกิดขึ้นในเมืองไทยได้ยาก และอาจจะล้มพับโครงการดังกล่าวออกไป เนื่องจากระบบจัดส่งแบบถังก๊าซแอลพีจีก็ยังไม่มีข้อเสียหายอันใดใหญ่หลวงให้เห็น อีกทั้งห่วงโซ่ธุรกิจแอลพีจีก็มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งร้านค้าแอลพีจี ลูกจ้างร้านค้า โรงบรรจุ โรงกลั่น ซึ่งล้วนยึดติดระบบถังกันมานาน หากมีการเปลี่ยนแปลงจะกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจดังกล่าว ซึ่งต้องศึกษาอย่างรอบคอบ
ที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย แม้ระบบการจัดส่งแอลพีจีทางท่อจะสะดวกและปลอดภัยมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น และหน่วยงานในไทยที่เกี่ยวข้องกับระบบดังกล่าวต่างแวะเวียนไปศึกษาดูงานซิตี้แก๊สกันหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำกลับมาใช้ในเมืองไทยได้
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสังคมไทยกับญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันอย่างมาก และเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในการเคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบและกฎหมาย โดยคนญี่ปุ่นจะอยู่ในกรอบกติกาสังคมอย่างเหนียวแน่น แต่คนไทยยึดหลักอิสระเสรี คือ ไทยแท้ ดังนั้น ระบบซิตี้แก๊สหากนำมาใช้ในเมืองไทยจะเกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูงมาก นับตั้งแต่การก่อสร้างตึก หากมีการคอร์รัปชันก่อสร้างตึกไม่ได้มาตรฐาน จะกระทบต่อระบบซิตี้แก๊สทันที
นอกจากนี้ ความประมาท รวมถึงความไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ซิตี้แก๊สส่วนรวม ย่อมนำมาซึ่งอุบัติภัยร้ายแรงได้ และการที่ไทยเป็นประเทศเมืองร้อน ปัญหาไฟไหม้ ก็อาจนำพามาซึ่งการระเบิดของระบบซิตี้แก๊สทั้งตึกได้เช่นกัน รวมถึงปัญหาการก่อการร้าย การเรียกร้องทางการเมือง ที่อาจยึดระบบซิตี้แก๊สเป็นตัวประกัน และคงไม่ต่างอะไรกับที่ครั้งหนึ่งในการต่อต้านการเมือง เกิดการยึดรถขนส่งแอลพีจีเป็นตัวประกัน สร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมไทยไม่น้อย กลัวจะเกิดการจุดระเบิดรถขนส่งแอลพีจีในครั้งนั้น แต่สุดท้ายก็สามารถเข้าแก้ไขและป้องกันได้ทันท่วงที และเป็นบทเรียนให้ระมัดระวังป้องกันไม่ให้รถขนส่งพลังงานถูกยึดเป็นตัวประกันอีก
ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น แม้ประเทศไทยจะนำระบบความปลอดภัยด้านการใช้ซิตี้แก๊สมาใช้ หรือเป็นระบบสากลที่ได้มาตรฐานป้องกันอุบัติภัยจากการใช้ก๊าซทางท่อได้ แต่เชื่อว่าปัญหาอุบัติภัยกับระบบซิตี้แก๊สอาจจะเกิดจากความประมาทและอุปนิสัยของมนุษย์มากกว่าระบบ และเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่สามารถติดตั้งระบบซิตี้แก๊สได้ เพราะสังคมยึดติดระบบกรอบกติกาสังคมเป็นสำคัญ หากฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษทางกฎหมายที่รุนแรง และทำให้ชีวิตตกต่ำลงอย่างหนักได้ ดังนั้น คนญี่ปุ่นจะทำสิ่งใดย่อมคำนึงถึงกฎระเบียบเป็นหลัก ทำให้ปัญหาที่อาจเกิดกับระบบซิตี้แก๊สมีน้อยมาก และสามารถนำมาใช้ในสังคมได้
ดังนั้น เทคโนโลยีความก้าวหน้าในเรื่องระบบการจัดส่งก๊าซ หรือพลังงานใดๆ ก็ตามของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมกับสภาพสังคม อุปนิสัยคนไทย เศรษฐกิจ และประโยชน์ที่เกิดกับประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ในยุคปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะใช้ระบบซิตี้แก๊ส การศึกษาเรียนรู้ไม่ใช้เรื่องเสียหาย แต่การจะเดินหน้านำมาใช้ต้องคิดให้ดี คิดให้หนัก รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุบัติภัยที่ร้ายแรงกับประเทศไทย.
ที่มา ไทยโพสต์
วันที่ 10 มีนาคม 2557