Page 1 of 1

สรท.ห่วงการเมืองยื้อลูกค้าหนี

Posted: 10 Mar 2014, 13:13
by brid.ladawan
สรท.ห่วงการเมืองยื้อลูกค้าหนี

สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อขณะนี้ ทำให้ภาคเอกชนหลายๆ ส่วนมีความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบ ต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้คาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2557 ว่าจะมีการเติบโต 2% และภายใน 6 เดือนแรกจะยังไม่มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว รวมไปถึงการลงทุนของผู้ประกอบการด้านต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ต้องชะลอตัวลง และเห็นว่าการส่งออกในปี 2557 นี้น่าจะขยายตัวได้ 5% อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวนั้น นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้ออกมาระบุอย่างชัดเจนว่า การส่งออกไทยเดือนมกราคม 2557 มีมูลค่า 17,907 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.98% แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคม 2557 จะติดลบ แต่ไม่เป็นผลมาจากสถานการณ์การเมือง เพราะยอดการส่งออกเดือนมกราคมปีนี้ยังคงสูงกว่ามูลค่าการส่งออกเดือนมกราคมเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 16,311 ล้านเหรียญสหรัฐ
“มองว่าการส่งออกยังขยายตัวได้ ทำให้เชื่อว่าไตรมาสแรกนี้จะยังไม่ถูกกระทบจากปัญหาทางการเมืองส่วนหนึ่ง เพราะคู่ค้าได้มีคำสั่งซื้อเข้ามาล่วงหน้าแล้ว และมีการจัดการภายในประเทศที่แข็งแกร่ง”
0 เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยง 3 เด้ง
นายนพพรกล่าวว่า แต่ก็ยังมีความกังวลจากเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยง 3 ด้านพร้อมกัน คือความสามารถการแข่งขันที่ลดลงจากปัญหาและนโยบายภาครัฐในช่วงเวลาที่ผ่านมา และไม่ได้รับการแก้ไขทั้งต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น ขาดแคลนแรงงาน การใช้นโยบายรัฐเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดในสินค้าเกษตร การเมืองทำสุญญากาศของภาครัฐอย่างน้อย 6 เดือน ส่งผลต่อการลงทุนโดยเฉพาะตอนนี้ที่ไม่มีบอร์ดบีโอไออนุมัติการลงทุน ซึ่งถ้ายาวไปจะทำให้ไทยขาดการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ที่ยิ่งจะทำให้ไทยไม่มีการพัฒนากลายเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุนอีกต่อไป
"สถานการณ์ที่รัฐอยู่ในภาวะสุญญากาศเอกชนต้องรวมตัวกันและช่วยเหลือกันเอง โดยเฉพาะธุรกิจใหญ่ต้องช่วยรายเล็ก เอกชนก็ต้องปฏิรูปสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ จะทำอะไรเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้เราเจอความเสี่ยงพร้อมกัน 3 เด้ง ซึ่งเชื่อว่าเอกชนจะทำได้ เป็นกำลังหลักของการส่งออกและเศรษฐกิจ" นายนพพรกล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการสภาผู้ส่งออกประเมินว่า จากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นมานานกว่า 3 เดือน ไม่มีกระทบต่อการส่งออกเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีนี้ เนื่องจากผู้ส่งออกได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว และแม้ว่าการดำเนินการขอเอกสารของทางราชการ และการขนส่งติดขัดในบางช่วงเวลา แต่การส่งออกยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากกระบวนการจัดการในประเทศมีความแข็งแกร่ง และไทยผ่านวิกฤติการเมืองมาแล้วหลายครั้ง
0 การส่งออกในปี 2557 โต 5%
นายนพพรกล่าวย้ำว่า มั่นใจการส่งออกตลอดปี 2557 นี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5% บนพื้นฐานเศรษฐกิจโลก ขยายตัว 3.5% และเงินบาทอ่อนค่าที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และอาจอ่อนค่าลงไปแตะ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก และเชื่อว่าสัดส่วนการส่งออกที่มีถึง 70% ของจีดีพี จะช่วยผลักดันให้จีดีพีของไทยปีนี้ขยายตัวที่ 2-3% ได้”
และจากการประเมินการส่งออกในครั้งนี้ ยังไม่รวมปัจจัยความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะยังมีปัญหาเรื่องการปลดคนงานของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงปัญหาเพดานหนี้ที่อยู่ในระดับสูง จนอาจทำให้เกิดปัญหาชัตดาวน์อีกรอบ รวมถึงการทยอยลดเงินอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจ หรือคิวอี ทำให้สภาพคล่องในโลกลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจอ่อนแอ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา ก่อนที่จะลุกลามออกไป อีกทั้งต้องจับตาภัยธรรมชาติในสหรัฐและจีน
“เอกชนไม่หวังพึ่งภาครัฐ เพราะเชื่อว่าจะเกิดสุญญากาศทางการเมือง จากการเลือกตั้งที่ไม่สมบูรณ์ และกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ประมาณไตรมาส 3-4 ปีนี้ นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะจัดทีมไปเจรจากับทางสหภาพยุโรป หรืออียู เพื่อเตรียมการด้านการค้าการลงทุน ก่อนที่ไทยจะจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อียู เพราะเมื่อมีรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าได้ทันที” นายนพพรกล่าว
นายนพพรกล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น มีมูลค่า 18,439.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.87% ภาพรวมส่งออกตลอดปี 56 มีมูลค่ารวม 228,529.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.31%
0 การเมืองมีผลกระทบส่งออกในระยะยาว
นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท. กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้กระทบต่อการส่งออกสินค้าทางอากาศ เนื่องจากอัตรานักท่องเที่ยวเข้ามาไทยลดลง ทำให้จำนวนเครื่องบินเข้ามาไทยลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ค่าระวางการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้มีการเรียกเก็บค่าความเสี่ยงในการขนส่ง เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง และยังส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ซื้อต่างชาติ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินโดยเร็ว
ส่วนการส่งออกระยะสั้น คงจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่จะส่งผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้รับการตรวจสอบจากต่างชาติ เพราะว่าคู่ค้าต่างชาติลดการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อก็อาจจะย้ายไปซื้อจากประเทศอื่นได้
"การที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ภายใน 6 เดือน อาจส่งผลต่อการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรปหยุดชะงักคาดว่าจะล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้กว่า 1 ปี จะทำให้ไทยมีต้นทุนสินค้าที่เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) โดยในปี 2557 นี้ถูกตัดไป 50 รายการ และในปีหน้าจะถูกตัดทั้งหมด 723 รายการ
0 เร่งจัดทำแผนกลยุทธ์รองรับความเสี่ยง
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ สภาผู้ส่งออกฯ จึงจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการเร่งด่วนสำหรับปี 2557 ทั้งในรูปแบบของการสร้างความเข้าใจสถานการณ์ในประเทศต่อสถานทูตในไทย การสร้างกลไกติดตาม รวบรวมข้อมูลและเสนอแนะแนวทางการเจรจาการค้าเสรีให้มีความต่อเนื่อง การเร่งรัดพัฒนาการค้าและขนส่งสินค้าข้ามแดน การเร่งลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งหารือและทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มีการผ่อนคลายทางการเงิน โดยเฉพาะการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งทางสภาผู้ส่งออกฯ ได้หารือและนำเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาการส่งออกต่อไป
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังไม่ยืดเยื้อ ก็มีผลกระทบต่อการลงทุนจะทำให้การส่งออกชะลอตัวลง รวมถึงแนวทางการเจรจาการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ และสิทธิพิเศษทางการค้า หรือจีเอสพี ที่ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสด้านการค้าชายแดน ซึ่งนักลงทุนได้ตัดสินใจย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์.

ที่มา ไทยโพสต์
วันที่ 10 มีนาคม 2557