Page 1 of 1

ขยายหน่วยไอ.ซี.ยู.ทารกวิกฤตลง รพช.หลังพบเด็กคลอดก่อนกำหนดตาย

Posted: 10 Mar 2014, 14:42
by brid.ladawan
ขยายหน่วยไอ.ซี.ยู.ทารกวิกฤตลง รพช.หลังพบเด็กคลอดก่อนกำหนดตายปีละ 3 พันราย

สธ.เล็งขยายหน่วยไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดอาการวิกฤต ลง รพช.ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ หวังลดปัญหาการเสียชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 28 วัน ชี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด พบมากปีละ 60,000-80,000 คน ต้องอยู่ไอ.ซี.ยู.ปีละกว่า 11,000 ราย เสียชีวิตปีละกว่า 3,000 ราย

ขยายหน่วยไอ.ซี.ยู.ทารกวิกฤตลง รพช.หลังพบเด็กคลอดก่อนกำหนดตายปีละ 3 พันราย
วันนี้ (7 มี.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารประจำเขตบริการสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท ว่า เรื่องหนึ่งในการพัฒนาเขตบริการสุขภาพ คือการเร่งพัฒนาระบบการดูแลทารกแรกเกิด ที่มีอาการวิกฤตทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด และเด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือน้อยกว่า 2,500 กรัม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน หรือมีผลต่อพัฒนาการล่าช้า

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จากสถิติที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีเด็กคลอดก่อนกำหนดคือคลอดเมื่ออายุครรภ์ 28-37 สัปดาห์ ปีละ 64,000 - 80,000 คน และมีเด็กที่มีอาการหนัก ต้องอยู่ในไอ.ซี.ยู.ปีละกว่า 11,000 คน เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ยังทำงานไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะระบบการหายใจ ตับ และระบบภูมิต้านทานโรค ทำให้ติดเชื้อง่าย การควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ดี และมีปัญหาการดูดนม ต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรการแพทย์ที่มีความชำนาญ และต้องอยู่ในโรงพยาบาลเฉลี่ยรายละ 2-3 เดือน จากข้อมูลในปี 2554 มีเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน เสียชีวิต จำนวน 3,154 ราย

“การแก้ไขปัญหาได้ให้ทุกเขตบริการสุขภาพ ตั้งคณะกรรมการพัฒนาทารกแรกเกิด เพื่อบริหารจัดการทั้งในระดับเขต และระดับจังหวัด จัดระบบบริการร่วมกันตั้งแต่การฝากครรภ์ การพัฒนาห้องคลอด การเพิ่มหน่วยไอ.ซี.ยู.ดูแลทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาจะอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เป้าหมายจะขยายลงถึงโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90-120 เตียงด้วย เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาได้รับการดูแลที่รวดเร็ว และพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน ลดปัญหาแทรกซ้อนระหว่างนำส่ง” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับเขตบริการสุขภาพที่ 3 พบเด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่า 2,500 กรัมเฉลี่ยปีละ 2,563 คน คิดเป็นร้อยละ 9 ของเด็กแรกเกิด และมีเด็กที่มีปัญหา เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด ไม่มีรูทวารหนัก ปีละ 120 กว่าคน เขตฯได้จัดแผนพัฒนาในปี 2556-2560 โดยเพิ่มหน่วยไอ.ซี.ยู.ดูแลเด็กทารกที่มีภาวะวิกฤตที่โรงพยาบาลชุมชนขนาด 60-120 เตียงอีก 6 แห่ง คือ รพ.ตะพานหิน รพ.บางมูลนาก รพ.ลาดยาว รพ.คลองขลุง รพ.พรานกระต่าย และ รพ.หนองฉาง และตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเด็กแรกเกิดที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ภายในปี 2560 จะมีหน่วยไอ.ซี.ยู.เด็กเพิ่มจาก 34 เตียง เป็น 53 เตียง

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการพัฒนาทั้งเขตในปี 2556 พบว่า ได้ผล อัตราการเสียชีวิตเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน ลดจาก 8.56 ราย ต่อ 1,000 ของเด็กเกิดมีชีพ เหลือ 6.55 ราย ต่อ 1,000 ของเด็กเกิดมีชีพ เป็นไปตามมาตรฐานที่ สธ.กำหนดให้มีน้อยกว่า 8 ต่อ 1,000 ของเด็กเกิดมีชีพ สามารถลดภาวะแทรกซ้อนได้ รวมทั้งมีการช่วยเหลือกันระหว่างโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่มีความสุขในการทำงานมากขึ้น

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 7 มีนาคม 2557