เกษตรกรอ่วมภัยแล้งกระหน่ำ คาดฉุดเศรษฐกิจปีม้าดิ่งเหว
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเกษตรกรไทยไม่รู้จบ โดยเฉพาะบรรดาพี่น้องชาวนา แม้ว่าล่าสุด! สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. จะไฟเขียวให้ “รัฐบาล” ยืมงบกลางปี 57 มาจ่ายฉุกเฉินไปก่อน 20,000 ล้านบาท
วันจันทร์ 10 มีนาคม 2557 เวลา 00:00 น.
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเกษตรกรไทยไม่รู้จบ โดยเฉพาะบรรดาพี่น้องชาวนา แม้ว่าล่าสุด! สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. จะไฟเขียวให้ “รัฐบาล” ยืมงบกลางปี 57 มาจ่ายฉุกเฉินไปก่อน 20,000 ล้านบาท แต่ใช่ว่าเงินก้อนนี้ชาวนาจะได้ครบทุกคน มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหา “ภัยแล้ง” ซึ่งปีนี้มาเร็วกว่าที่คาด ยิ่งสร้างความบั่นทอนระลอกใหญ่ เพราะนอกจากไม่มีเงินมาลงทุนเพาะปลูกรอบใหม่ตามปกติแล้ว ยังไม่มีน้ำเพียงพอที่จะดูแลผลผลิตให้เติบโตจนตลอดรอดฝั่งได้
ขณะเดียวกันปัญหานี้...ยังสร้างผลกระทบในวงกว้าง เพราะรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงได้ฉุดตัวเลขกำลังซื้อภายในประเทศให้ลดลงตามไปด้วย ที่สำคัญยังมีข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือสศก. ระบุถึงสัญญาณที่ไม่น่าพิสมัยอีกอย่าง คือ ตั้งแต่ปี 51-55 เกษตรกรไทย มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเกือบ 5% และส่วนมากเป็นหนี้จากการลงทุนขยายการเพาะปลูก ขณะที่ปี 56-57 แนวโน้ม ยังไม่มีทีท่าที่จะปรับลดลง
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าห่วงว่า ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลสะเทือนซึมเข้าไปถึงระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ และเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่ รัฐบาลรักษาการต้องรีบแก้ ถ้ายังหวังจะกู้คะแนนเสียงจากรากหญ้าให้กลับมาอีกครั้ง หลังชาวนาหมดความมั่นใจไปเพราะโครงการรับจำนำข้าว ภัยแล้งเริ่มลามหลายจังหวัด
สถานการณ์ในภาพรวมของภัยแล้ง ล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือปภ. ได้ประกาศจังหวัดที่ประสบภัยแล้งแล้ว 18 จังหวัด รวม 82 อำเภอ 488 ตำบล 4,105 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ โดยภาคที่กระทบมากที่สุดเป็นภาคเหนือ มี 6 จังหวัด ไล่ตั้งแต่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ ตาก น่าน และพะเยา รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ทั้งบุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ และชัยภูมิ ต่อด้วยภาคกลาง 3 จังหวัด คือ สิงห์บุรี สระบุรีและชัยนาท และภาคตะวันออก 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และปราจีนบุรี ส่วนภาคใต้มีเพียงจังหวัดตรัง จังหวัดเดียวที่ประสบปัญหา
แน่นอนว่า...เมื่อภัยแล้งมาเร็วกว่าปกติ ต้องกินเวลายาวนานอยู่พอสมควร และอาจมีอีกหลายจังหวัดที่จะถูกประกาศเป็นเขตประสบภัย โดยเฉพาะภาคอีสานที่เดิมทีโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ เป็นดินทรายเก็บน้ำได้ยากแล้วยังเป็นพื้นที่ที่รับแสงแดดมากที่สุดของประเทศอีก หน้าแล้งนี้จึงส่งผลกระทบให้เกษตรกรต้องได้รับความเดือดร้อนในอีกไม่ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่อยู่ไกลจากพื้นที่ชลประทาน
มะนาวราคาพุ่งกระฉูด
ในทุกฤดูแล้ง พืชผลเกษตรหลักที่ปรับขึ้นราคา คงหนีไม่พ้น “มะนาว” ที่เวลานี้ได้ปรับราคาขึ้นแล้ว เพราะการขาดน้ำไปดูแลในช่วงหน้าร้อน ทำให้มะนาวออกลูกได้น้อย หรือมีปริมาณน้ำในมะนาวน้อย ส่งผลให้ราคาขายปลีกบางพื้นที่มีราคาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ลูกละ 5-6 บาท และราคาอาจปรับเพิ่มอีก โดยบางปีราคามะนาวปรับเพิ่มขึ้นเกินลูกละ 10 บาท ซึ่งปีนี้ถือว่า น่าเป็นห่วงมาก เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีราคามะนาวปีนี้ได้ปรับราคาเพิ่มขึ้น 0.50 - 1 บาทต่อลูกแล้ว
ดังนั้นหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าราคามะนาวที่แพงขึ้นอาจส่งผลกระทบกับราคาอาหารอื่นที่ใช้มะนาวเป็นส่วนประกอบ เช่น ต้มยำกุ้ง สารพัดยำ หรือชามะนาว ว่า แม่ค้า พ่อค้าบางรายอาจฉวยโอกาสปรับราคาอาหารขึ้นในช่วงนี้ด้วยหรือไม่
หวั่นผลผลิตข้าวนาปรังออกน้อย
นอกจากมะนาวแล้ว พืชผลทางการเกษตรที่สำคัญอีกอย่างที่กำลังได้รับผลกระทบก็คือ ข้าว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของไทย โดยล่าสุดได้มีการประเมินออกมาว่า สถานการณ์ภัยแล้งในเดือนมี.ค.นี้ คงกระทบต่อผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังของไทยให้ลดลงถึง 30-40% หรือผลผลิตหายไปกว่า 3 ล้านตัน เพราะเกษตรกรไม่มีน้ำมาทำการผลิต และดูแลข้าวที่กำลังยืนต้น ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับราคา แน่นอนว่า คงต้องมาประเมินกันอีกทีว่าจะมีผลต่อราคาข้าวได้ปรับตัวขึ้นสักแค่ไหน
สิ่งที่ยังเป็นความหวังอยู่ตอนนี้ คงต้องมาภาวนาเรื่องการบริหารจัดการข้าวในสต๊อกของรัฐบาล หากรัฐมีการทยอยระบายข้าวในราคาไม่เหมาะสม ได้ราคาต่ำมาก ก็จะมีผลต่อราคาตลาดที่ไม่ได้สูงขึ้น แม้ปริมาณข้าวในตลาดจะลดลงก็ตาม
ห่วงผลกระทบลามฉุดเศรษฐกิจ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาภัยแล้ง โดยได้ระบุ ให้เป็นหนึ่งในแนวทางของการบริหารเศรษฐกิจในปี 57 ของรัฐบาล ที่ต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะด้านการเกษตร ที่ยังเป็นรายได้หลัก และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในประเทศ เพราะจากการติดตามข้อมูลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 56 พบว่า ภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย แค่ 0.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีมีปริมาณลดลงอย่างน่าใจหาย
ขณะเดียวกันในฝั่งของนักวิชาการหลายราย ยังแสดงความเป็นห่วง เกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลขอเจียดงบประมาณกลาง ของปีงบประมาณ 57 มาจ่ายให้ชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวอีก 20,000 ล้านบาท จะไปบดบังการใช้เงินงบกลางในกรณีฉุกเฉินเพิ่มช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี เพราะวงเงินก้อนดังกล่าว เหลืออยู่ประมาณ 72,000 ล้านบาท แบ่งเค้กมาช่วยจ่ายจำนำข้าวเกือบครึ่ง น่าเป็นห่วงไม่น้อย แม้ว่าเป็นเพียงเงินที่ยืมมาใช้ แต่ในข้อตกลง แม้ว่า กกต.จะบอกให้รัฐบาลคืนเงินภายในสิ้นเดือน พ.ค. 57 แต่ยังเป็นเรื่องของอนาคตว่า ในข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลจะมีเงินมาจ่ายคืนได้ครบจำนวนหรือไม่ และจะไปทำให้งบช่วยเหลือภัยแล้งได้รับผลกระทบด้วยอีกหรือไม่?
นายกฯ สั่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
แม้ว่า “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งให้หน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยให้ปภ.เป็นแม่งานหลัก แต่หลายแนวทางที่ออกมา เป็นเพียงวิธีแก้ไขเฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น สำรวจพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ประสบภัยแล้งในระดับหมู่บ้าน เพื่อจัดโซนนิ่งพื้นที่ประสบภัยแล้ง และวางมาตรการช่วยเหลือให้สอดคล้อง โดยเน้นวางแผนบริหารจัดการน้ำและแจกจ่ายน้ำทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ น้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอต่อการใช้งาน จัดหาถังน้ำ ซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ เพื่อเตรียมสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ให้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน
ขณะที่ระดับจังหวัดยังมอบหมายให้ไปจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยบูรณา ส่วนแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับพื้นที่ให้โยงการบริหารจัดการน้ำกับจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนปภ.เองก็ได้จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องจักรกล เช่น เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและให้การช่วยเหลือ ซึ่งแต่ละแนวทางช่วยเหลือ ไม่ได้มองถึงการแก้ไขปัญหาระยะยาวแต่อย่างใด
วสวัตติ์ โอดทวีดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้ อาจไม่ใช่แค่รอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลช่วยเหลืออย่างเดียว หากแต่เกษตรกรต้องช่วยตัวเอง หาวิธี แก้ขัดสร้างรายได้อย่างอื่นไปก่อน เพราะถ้ามัวแต่ตั้งความหวังรอรัฐบาล เชื่อได้ว่าทุกอย่างจะสายเกินแก้!.
งดปล่อยน้ำทำนาปรัง
“สุเทพ น้อยไพโรจน์” รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายจัดสรรน้ำ บอกว่า ปัญหาที่ทำให้ปีนี้ภัยแล้งจะหนักหนาสาหัสมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากมีดัชนีชี้วัดหลายตัวบ่งบอกว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางนั้น ทั้งเรื่องของฤดูหนาวที่ผ่านมาที่มีอากาศหนาวยาวเย็นและยาวนานผิดปกติและสิ่งที่มาพร้อมกับลมหนาวคืออากาศแห้ง ที่มีอิทธิพลทำให้น้ำที่กักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำระเหยหายไปมากผิดปกติ ขณะที่ดัชนีชี้วัดที่สำคัญที่สุดคือปริมาณการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะการทำนาที่เป็นพืชมีการใช้น้ำมาก โดยการทำนาปรังในช่วงที่ผ่านมาตามแผนปกติกรมชลประทานตั้งไว้ที่ 4.3 ล้านไร่ แต่ปีนี้กลับมีการทำนาปรังเพิ่มเป็น 2 เท่าของแผนที่ทำไว้ซึ่งมีจำนวนมากถึง 8.7 ล้านไร่
ปัญหาเหล่านี้ทำให้น้ำที่ระบายจากเขื่อนถูกดูดสูบเข้าแปลงนามาก ยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้ภัยแล้งมีปัญหาหนักขึ้น ซึ่งนับแต่นี้ต่อไปกรมชลประทานจะไม่ระบายน้ำไปทำนาปรังอีก แม้ต้องถูกต่อว่าต่อขานจากชาวบ้านเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็ต้องทำ เพราะกรมชลประทานจำเป็นต้องเตรียมสำรองน้ำไว้เพื่ออนาคตข้างหน้าด้วย เพราะไม่รู้ว่าปีนี้น้ำฤดูฝนจะมาเมื่อใดแน่ เพราะกรมอุตุฯ ได้แจ้งว่าปีนี้ฤดูฝนจะมาช้า
ค่าความเค็มเกินมาตรฐาน
“รอยล จิตรดอน” ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า เมื่อพิจารณาถึงปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ พบว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย เขื่อนภูมิพลยังมีน้ำในเขื่อน 48% และมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้ 2,666 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำในเขื่อน 54% และมีปริมาณน้ำที่จะใช้ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าวิกฤติที่สุดในรอบ 10 ปี
ส่วนสภาพอากาศที่หนาวจัดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้อากาศแห้ง โอกาสเกิดปัญหาภัยแล้งจึงมีค่อนข้างสูง สุดท้ายคือเรื่องของค่าความเค็มของน้ำทะเลที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทย เพราะจะมีผลกระทบกับการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจากการตรวจวัดค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานีสูบน้ำดิบลำแล จ.ปทุมธานี พบว่าน้ำทะเลมีค่าความเค็มมากกว่า 6 กรัมต่อลิตร ไปแล้ว ซึ่งค่ามาตรฐานความเค็มเพื่อใช้ในการเกษตรต้องมีความเค็มไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตรเท่านั้น ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกรมชลประทานได้จัดสรรน้ำในการทำเกษตรกรรมไว้ที่ 2.95 ล้านไร่ ปรากฏว่าชาวนาใช้พื้นที่ไปกว่า 5.4 ล้านไร่แล้ว ถือเป็นการผลิตเกินมาตรฐานมากเกือบ2-3 เท่าตัวทีเดียว
งดให้เงินช่วยข้าวนาปรังรอบ2
“ยุคล ลิ้มแหลมทอง” รักษาการรองนายกฯและรมว.เกษตร มองว่า น้ำใน 2 เขื่อนหลักของไทย ทั้งเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จะถูกนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมทุกอย่าง ทั้งการอุปโภคหรือบริโภค รวมไปถึงการรักษาระบบนิเวศเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งหมดจะสามารถดำเนินการได้เพียง3 เดือนเท่านั้น หรือจนถึงเดือน พ.ค.นี้เท่านั้น ดังนั้นการใช้น้ำในช่วงหน้าแล้งเช่นนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องดูแลในรายละเอียดและต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอและ
เหมาะสม
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องขอเตือนไปยังเกษตรกรว่าปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เพียงพอที่จะปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องนำเสนอให้ ครม.พิจารณาให้มีการประกาศและมีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าหากเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 จะไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือหรือเข้าโครงการจากภาครัฐ แม้ว่าจะประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งก็ตาม อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ให้ชัดเจนอีกครั้ง ก่อนเสนอแผนและแนวทางช่วยเหลือชาวนาที่ชัดเจนให้ ครม.พิจารณาต่อไป
ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 10 มีนาคม 2557
เกษตรกรอ่วมภัยแล้งกระหน่ำ คาดฉุดเศรษฐกิจปีม้าดิ่งเหว
-
- Posts: 7045
- Joined: 29 Mar 2013, 13:36