แนะสื่อมวลชน-ดาราตระหนักเป็นต้นแบบใช้ภาษาที่ดี

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

แนะสื่อมวลชน-ดาราตระหนักเป็นต้นแบบใช้ภาษาที่ดี

Post by brid.ladawan »

แนะสื่อมวลชน-ดาราตระหนักเป็นต้นแบบใช้ภาษาที่ดี

ราชบัณฑิตปลุกคนไทยตื่นตัวช่วยกันสร้างค่านิยมภาคภูมิใจในภาษาไทยที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ภาษาใดในโลก ติงสื่อมวลชนใช้ภาษาผิดกันมาก ด้านที่ปรึกษาสพฐ.แนะทั้งสื่อและดาราต้องตระหนักในการเป็นต้นแบบการใช้ภาษาที่ดี แต่ไม่ค่อยหวังกับนักการเมือง ถือเป็นการใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มที่ไม่ควรเลียนแบบ

วันนี้(11มี.ค.) ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิตประเภทวิชาปรัชญาในฐานะประธานคณะกรรมการชำระพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวในการเสวนา “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หนังสือที่คนทุกอาชีพใช้”ในงานแถลงข่าวเปิดตัวพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่อาคารนานมีบุ๊คส์เฮาส์ว่าภาษาไทยทำให้ตนรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทย จึงพยายามศึกษาเรียนรู้การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องมาตลอดดังนั้นพจนานุกรมจึงช่วยได้มาก แต่ภาษาก็มีเกิดมีตายจึงต้องมีการปรับปรุงพจนานุกรมอย่างต่อเนื่อง โดยพจนานุกรม พ.ศ.2554 ก็มีการเพิ่มคำใหม่อีกมากมายกว่า 2,000 คำโดยเฉพาะคำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ เช่น แกล้งดิน แก้มลิงกังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นต้น

ศ.จำนงค์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการใช้ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมากมีการยอมรับให้ใช้ได้ทั้งที่เป็นภาษาปาก และตามหลักวิชาการ เช่น คำว่าเพชรบุรีจะอ่านว่า เพ็ด-ชะ-บุ-รี หรือ เพ็ด-บุ-รี ก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ถือว่าผิดแต่ก็ไม่ถือว่าถูกแต่ก็ใช้สื่อสารเข้าใจกันได้ อย่างไรก็ตามทุกวันนี้สื่อสารมวลชนใช้ภาษาผิดกันมากจนทำให้ภาษาวิบัติ เช่น คำว่า “ให้แก่” ก็มักจะเขียนเป็น “ให้กับ” จนเขียนผิดกันไปทั้งประเทศในขณะที่ครูภาษาไทยที่เก่งๆของเราก็มีน้อย จึงทำให้คนไทยมีปัญหาในการใช้ภาษาไทยกันมาก

“ การจะอนุรักษ์ภาษาไทยไว้ได้นั้นต้องสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในภาษาไทยตั้งแต่เด็ก ต้องสร้างค่านิยมให้คนไทยรักในความเป็นไทยซึ่งความจริงแล้วเราควรภาคภูมิใจในภาษาไทยเพราะมีความโดดเด่นไม่แพ้ใคร โดยหากสมมติว่าทั่วโลกมีอยู่100 ประเทศ จะมีประเทศที่มีภาษาของตนเองไม่ถึง 50 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 50ที่มีภาษาเป็นของตนเอง นอกจากนี้ใน 50 ประเทศที่มีภาษาของตนเอง ก็จะมีเพียง 30ประเทศที่มีตัวหนังสือของตนเอง ซึ่งไทยก็เป็น 1 ใน 30 ที่มีตัวหนังสือของตนเองและยังมีมากถึง44 ตัว ยิ่งไปกว่านั้นใน 30ประเทศดังกล่าวก็จะมีเพียง 20 ประเทศที่มีตัวเลขใช้เอง ซึ่งไทยก็มีเช่นกันและยังเป็นตัวเลขที่สวยงามที่สุดในโลกอีกด้วย” ศ.จำนงค์ กล่าว

ด้านนางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า ตนเห็นว่าไม่ต้องกังวลกับคำใหม่แปลกๆที่เกิดขึ้น เช่น จุงเบย ฝุดๆ เงิบเพราะเชื่อว่าเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป แต่สิ่งที่จะอยู่ในพจนานุกรมคือภาษาที่เป็นมาตรฐานทั้งการพูด การเขียน ดังนั้นเมื่อเราไม่สามารถห้ามเด็กๆเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทำให้ภาษาผิดเพี้ยนได้เราก็ควรหาวิธีที่จะเอาเทคโนโลยีมารองรับการเรียนการสอนให้ได้มากกว่า ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษาที่ถูกต้องได้จดจำร้อยกรองที่ไพเราะ ได้ฝึกเขียนเรียงความ หรือบทกวี ซึ่งเป็นการฝึกทักษะทางภาษาเขาก็จะชินกับต้นแบบภาษาที่ดี จะทำให้ค่อยๆซึมซับการใช้ภาษาที่ดีได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามจากการได้สัมผัสทั้งครูและศึกษานิเทศก์ต้องยอมรับว่ารู้สึกกลุ้มใจเพราะบางคนยังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพจนานุกรม และคิดจะใช้แต่ “อาจารย์กู” หรือกูเกิลในอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ข้อมูลที่ได้อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดตนจึงไม่อยากให้มองว่าพจนานุกรมเป็นยาหม้อใหญ่ แต่ควรมองว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาโดยเฉพาะเรื่องของวรรณคดีกับพจนานุกรมจะต้องเป็นของคู่กัน แม้เราอาจไม่ได้ใช้พจนานุกรมทุกวันแต่เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้ และฝึกให้ชินก็จะทำให้ทักษะทางภาษาทั้งการพูดอ่าน และเขียนเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ตระหนักได้ว่าภาษาไทยมีคุณค่าน่าภาคภูมิใจที่สุดยิ่งเวลาเดินทางไปต่างแดน ตนจะรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นคนไทย และได้พูดภาษาไทยเพราะจะมีชาวต่างชาติให้ความสนใจภาษาไทยกันมากโดยมองว่าภาษาไทยมีเสน่ห์ที่เสียงสูงต่ำคล้ายเสียงดนตรี

“ ปัญหาการใช้ภาษาไทยทุกวันนี้ต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไรโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อสาธารณชน ทั้งสื่อมวลชน และดารานักแสดงจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการเป็นต้นแบบของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องแต่อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มนักการเมือง ยอมรับว่าคงคาดหวังไม่ได้ต้องถือว่าเป็นภาษาเฉพาะกลุ่มที่ฟังแล้วไม่ควรเอาไปพูดต่อ” นางพจมาน กล่าว

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 11 มีนาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”