Page 1 of 1

พัฒนาทักษะชีวิต

Posted: 12 Mar 2014, 14:07
by brid.ladawan
พัฒนาทักษะชีวิต

ในช่วงปิดเทอม ขอแนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานของท่านมาร่วมกิจกรรมการพัฒนาทักษะชีวิตกันค่ะ
ทักษะที่เด็กควรได้รับการส่งเสริมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับการดำเนินชีวิตและการปรับตัวในสภาพสังคมปัจจุบันมี 4 ด้านด้วยกันคือ
1. ทักษะด้านการจัดการอารมณ์ เด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะต้องมีความตระหนักรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของตนเอง รู้สาเหตุของความเครียด รู้จักวิธีควบคุมและจัดการอารมณ์ รู้วิธีผ่อนคลาย และหลีกเลี่ยงการแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรง
2. ทักษะด้านการปรับตัวเข้ากับสังคม เด็กควรเรียนรู้การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น การวางตัวในสถานการณ์ต่างๆ และควรมีทักษะในการสื่อสาร เป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี สื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตนเองได้ และรับรู้ความรู้สึก ความต้องการของผู้อื่นได้
3. ทักษะด้านความคิด เด็กควรมีทักษะในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ มองเห็นที่มาของปัญหา รู้จักการวางแผนและการบริหารจัดการ รวมทั้งมีความกล้าในการตัดสินใจ
4. ทักษะด้านคุณธรรมจริยธรรม จะต้องมีการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็ก
การฝึกทักษะทั้ง 4 ด้าน จะส่งผลให้เด็กรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น มีทัศนคติที่ดีในการพัฒนาตนเอง เปลี่ยนมุมมองของเด็กที่มีต่อตนเอง และเป็นการสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองให้กับเด็ก ทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งการส่งเสริมหรือฝึกทักษะนี้ ทำได้ที่บ้าน โดยผู้ปกครองสามารถสอดแทรกการสอนทักษะต่างๆ ผ่านการเล่น หรือการทำกิจวัตรประจำวันได้ โดยการหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความสำคัญและแนวทางในการพัฒนาทักษะต่างๆ อีกทั้งยังสามารถฝึกทักษะนอกบ้าน โดยการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
นอกจากนี้ ทางสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ได้จัดค่ายพัฒนาทักษะชีวิต วันที่ 31 มีนาคม - 4 เมษายนนี้ ณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 รพ.ศิริราช เด็กเข้าร่วมจะได้รับการส่งเสริมทักษะผ่านการทำกิจกรรมกลุ่ม การละเล่น และกิจกรรม Walk Rally เพื่อฝึกทักษะในด้านต่างๆ เช่น ฝึกการจัดการอารมณ์ตนเอง ฝึกสมาธิในการฟังและการสื่อสาร ฝึกการทำงานเป็นทีมและการวางแผนการทำงาน การแก้ปัญหา และการส่งเสริมการทำความดี ซึ่งกิจกรรมการพัฒนาทักษะชีวิตต่างๆ เหล่านี้ เป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์และการเข้าสังคม เด็กที่มีภาวการณ์เรียนรู้บกพร่อง เด็กที่สมาธิสั้น และอยู่ในความดูแลของแพทย์ สนใจสอบถาม โทร.0 2419 8958

ที่มาASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 12 มีนาคม 2557