Page 1 of 1

เชิดชู 10 สตรีต้นแบบพัฒนาชุมชนภาคใต้

Posted: 17 Mar 2014, 14:02
by brid.ladawan
เชิดชู 10 สตรีต้นแบบพัฒนาชุมชนภาคใต้

แรงบันดาลใจเกิดจากการสูญเสียคนในครอบครัว จึงตระหนักว่าต้องต่อสู้เพื่อให้สามารถมีที่ยืนบนแผ่นดินเกิด

ในฐานะองค์กรพัฒนาระดับชาติ ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือชุมชนและผู้คนที่ขาดแคลนทั่วโลกมากว่า 70 ปี องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย จึงร่วมมือกับ มูลนิธิยูนิลีเวอร์ ม.สงขลานครินทร์ เครือข่ายสตรีผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดน สายการบินนกแอร์ กลุ่มสห+ภาพ และ มิวเซียมสยาม จัดโครงการเชิดชูเกียรติ 10 สตรีผู้นำการพัฒนาชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งเป็นการพลิกวิกฤติจากการสูญเสีย เป็นแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นสู้ แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความรุนแรง เป็นกระบวนการที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถเป็นแรงในการขับเคลื่อน เยียวยา ให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และคืนสันติสุขสู่ภาคใต้ และได้มีการมอบรางวัล “สตรีต้นแบบ” ขึ้นเป็นปีแรก ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ โดยมี พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมเปิดนิทรรศการภาพถ่าย “ดอกไม้กลางไฟใต้” นำเสนอมุมมอง ถ่ายทอดบริบทแห่งสันติภาพและวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัด จัดแสดงทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ระหว่างเวลา 10.00-18.00 น.

สตรีต้นแบบทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิมจากชุมชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับรางวัลในปีแรก ได้แก่ กัลยา โสพาศรี, ดวงสุดา สร้างอำไพ, นฤมล สาและ, นิเด๊าะ อิแตแล, มาริสา สมาแห, แยน๊ะ สะลาแม, สม โกไศยกานนท์, สีตีนอร์ เจ๊ะ เล๊าะ, อรอุมา ธานี และ อารีด้า สาเม๊าะ หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลสตรีต้นแบบ ภรรยานายตำรวจผู้ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรง สม โกไศยกานนท์ ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบใน จ.ยะลา และคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบในฐานะตัวแทนภาคประชาชน เผยว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้ลุกขึ้นทำงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพราะรู้สึกเห็นใจเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน รู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดที่ต้องได้รับ จึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือทั้งการเยียวยาเบื้องต้น และการสร้างความเข้าใจ สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังต้องการให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความช่วยเหลือที่เท่าเทียมกัน ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ดีใจมากที่ได้รับรางวัล เพราะตลอดเวลาการทำงานไม่เคยคิดว่าจะมีคนเห็น

ดวงสุดา สร้างอำไพ นักจัดรายการวิทยุกระบอกเสียงระหว่างคนไทยพุทธ-มุสลิม กล่าวว่า แรงบันดาลใจเกิดจากการสูญเสียคนในครอบครัว จึงตระหนักว่าต้องต่อสู้เพื่อให้สามารถมีที่ยืนบนแผ่นดินเกิด จึงทำงานเป็นกระบอกเสียงระหว่างไทยพุทธ-ไทยมุสลิม ยึดหลักความเป็นกลางเพื่อสร้างความเข้าใจให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้ว่าการทำงานในฐานะสื่อมวลชนทำให้ต้องตกเป็นเป้าของความรุนแรงก็ตาม

อีกหนึ่งสตรีต้นแบบ นฤมล สาและ ประธานอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เผยว่า พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ นับถือศาสนาพุทธ เปลี่ยนศาสนาจากการแต่งงานและย้ายตามสามีไปอยู่สามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อครั้งพาลูกไปฉีดวัคซีนเห็นถึงความสำคัญด้านสุขภาพของชาวบ้าน จึงทำหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประสานงานแปลภาษา สร้างความเข้าใจและให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ชาวบ้าน รวมทั้งทำหน้าที่เยียวยาและส่งเสริมอาชีพผู้ได้รับผลกระทบ รางวัลนี้ถือเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยอมรับผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 17 มีนาคม 2557