Page 1 of 1

เครื่องตรวจคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวฝีมือเนคเทค

Posted: 17 Mar 2014, 18:09
by brid.ladawan
เครื่องตรวจคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวฝีมือเนคเทค

ที่ผ่านมาการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ต้องอาศัยบุคลากรที่มีประสบการณ์และความชำนาญเท่านั้น โดยเฉพาะการตรวจสอบพันธุ์ปนซึ่งสังเกตได้ยาก ต้องตรวจสอบทั้งด้านเคมีและกายภาพที่อาศัยการจำแนกด้วยสายตา

เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี คือปัจจัยเบื้องต้นที่สำคัญกับการเพาะปลูก

แต่การที่จะรู้ว่าเมล็ดพันธุ์นั้น ๆ มีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ นอกจากจะตรวจสอบลักษณะทางกายภาพด้วยสายตาของผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการแล้ว ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ล้วนแต่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้สะดวก รวดเร็วและเป็นระบบมากขึ้น กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาต้นแบบเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้น

นางอัญชลี ประเสริฐศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์และมาตรฐานพันธุ์ กรมการข้าว บอกว่า การตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นขั้นตอนหนึ่งในการรับรองเมล็ดพันธุ์ข้าว ว่ามีคุณภาพดีเพียงพอสำหรับการนำมาปลูกหรือขยายพันธุ์ต่อหรือไม่

โดยองค์ประกอบหลักของคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ต้องตรวจสอบตามมาตรฐานก็คือ เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ สิ่งเจือปน ความงอก ความชื้น ข้าวแดงปนหรือมีข้าวกลายพันธุ์และข้าวพันธุ์อื่น ๆ ปน

ที่ผ่านมาการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ต้องอาศัยบุคลากรที่มีประสบการณ์และความชำนาญเท่านั้น โดยเฉพาะการตรวจสอบพันธุ์ปนซึ่งสังเกตได้ยาก ต้องตรวจสอบทั้งด้านเคมีและกายภาพที่อาศัยการจำแนกด้วยสายตา นอกจากนี้ยังมีหลายขั้นตอน

จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบ ซึ่งทีมวิจัยได้เลือกใช้เทคโนโลยีโฟโตนิกส์

ซึ่งเป็นการผสมผสานความรู้ทางแสง อิเล็กทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์ เข้าด้วยกัน และเป็นเทคนิคใหม่ที่สามารถตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและสามารถทำการตรวจสอบได้หลายตัวอย่างและหลายคุณลักษณะได้ในครั้งเดียว แถมไม่ทำลายตัวอย่างอีกด้วย

ด้านทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโตนิกส์ นำโดย ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการเนคเทคเปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีโฟโตนิกส์ไปตอบโจทย์ปัญหาด้านการพัฒนาคุณภาพของข้าวไทย โดยต่อยอดมาจากการตรวจวัดสีของใบข้าวที่สามารถบ่งบอกได้ว่าขาดสารอาหารใดบ้าง

สำหรับการพัฒนาเครื่องมือตรวจเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 6 เดือน เบื้องต้น ได้ต้นแบบอุปกรณ์จำนวน 3 เครื่องเน้นตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวสาร

เครื่องแรกคือเครื่องตรวจเมล็ดข้าวแดง เมล็ดข้าวเหนียว หรือเมล็ดข้าวเจ้า ที่ปนมากับเมล็ดพันธุ์ สามารถนำเมล็ดพันธุ์ข้าวเข้าตรวจสอบได้พร้อมกันอย่างน้อย 100 เมล็ด

ต่อมาเป็นเครื่องตรวจคุณภาพเมล็ดข้าว ที่สามารถวัดความยาว ความกว้างและความหนาของเมล็ดข้าวได้พร้อม ๆ กัน ทั้งที่อยู่ในรูปข้าวเปลือก ข้าวกล้องและข้าวสาร นอกจากนี้ยังตรวจวัดความเหลืองและระดับท้องไข่ที่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์การหักระหว่างการสีของข้าวเมล็ดนั้นได้อีกด้วย

และสุดท้ายเครื่องมือตรวจคัพภะ ของเมล็ดข้าว ซึ่งสามารถบอกได้ถึงความสมบูรณ์ของเมล็ดข้าวที่กระเทาะเปลือกแล้ว โดยข้าวที่มีปริมาณคัพภะหรือจมูกข้าวจำนวนมากจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่าเมล็ดข้าวที่มีปริมาณคัพภะน้อย

อุปกรณ์ทั้งหมดนี้จะมีหน่วยความจำภายในเพื่อเก็บข้อมูล และมีส่วนควบคุมและมีซอฟต์แวร์ประมวลผลและแสดงผลการตรวจวัด ทำให้สามารถตรวจสอบคุณภาพข้าวได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

ทั้งนี้กรมการข้าวจะนำเครื่องดังกล่าวไปทดสอบใช้งานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาต่อ ก่อนขยายผลไปสู่การใช้งานที่ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศในระยะต่อไป

ตอบโจทย์ปัญหาข้าวไทยในเรื่องคุณภาพของเมล็ดพันธุ์กันแล้ว นายชาญพิทยา ฉิมพลี อธิบดีกรมการข้าว ฝากโจทย์ต่อไปให้นักวิจัยช่วยคิด ก็คือ การตรวจวัดคุณภาพของข้าวที่นำมาขาย รวมถึงการแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน ซึ่งเรียกว่าเป็นโจทย์หิน แต่หากทำได้จะช่วยให้ชาวนาไทยไม่ต้องเสียเปรียบโรงสีข้าวอีกต่อไป.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่13 มีนาคม 2557