Page 1 of 1

สร้างคนสร้างมาตรฐานยกระดับช่างผมไทยสู่เออีซี

Posted: 18 Mar 2014, 09:25
by brid.ladawan
สร้างคนสร้างมาตรฐานยกระดับช่างผมไทยสู่เออีซี

“การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพช่างผมไทย” บูรณาการเข้ากับหลักสูตรเดิมของกระทรวงศึกษาธิการ และใช้หลักสูตรจากสถาบันอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงมาปรับใช้ อยู่ภายใต้การเรียนการสอนครบทั้ง 4 ด้าน

แม้อาชีพ “ช่างทำผม” มิใช่หนึ่งในกระบวนการช่างไทยถูกบรรจุในหมวด “ช่างสิบหมู่” แต่ถ้าวัดทักษะด้านนี้ฝีมือของคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ขณะเดียวกันกลับมีปัญหาด้านระบบการจัดการ ซึ่งกลายเป็นจุดด้อยทำให้ร้านทำผมส่วนใหญ่ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปในที่สุด เพื่อสร้างช่างทำผมมืออาชีพอย่างยั่งยืนและมี “จุดยืน” หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ “เออีซี” ในปี พ.ศ. 2558 ดร.สมศักดิ์ ชลาชล กูรูช่างผมชื่อดังและผู้ก่อตั้งโรงเรียนเสริมสวยชลาชล ได้เชิญ วีรชัย ศรีขจร ผอ.สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมพูดคุยถึงอาชีพแฮร์สไตลิสต์และธุรกิจซาลอนเพื่อการยกระดับมาตรฐานอาชีพ ภายในงาน “ไฟนอล โปรเจคท์” ประจำปี โชว์แฟชั่นผมของลูกศิษย์ก้นกุฏิ รุ่นที่ 2 ของโรงเรียนเสริมสวยชลาชลทั้ง 32 คน ผ่านแนวคิด “แดร์ ทู อินสไปร์” บ่งบอกถึงการกล้าคิด กล้าจินตนาการ กล้าแสดงออกของศิลปินรุ่นใหม่ สร้างแรงบันดาลใจให้คนยุคใหม่ที่หลงใหลในงานแฟชั่น ค้นพบทางเดินในวงการแฟชั่นผมอีกทางหนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องเลอ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมโซฟิเทล แบงคอก สุขุมวิท

ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า โรงเรียนเสริมสวยชลาชลได้รับความไว้วางใจจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้เป็นตัวแทนหลักของวงการช่างทำผมไทย ในการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิอาชีพและระดับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งต่อยอดจากงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพช่างผมไทย” บูรณาการเข้ากับหลักสูตรเดิมของกระทรวงศึกษาธิการ และใช้หลักสูตรจากสถาบันอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงมาปรับใช้ อยู่ภายใต้การเรียนการสอนครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทัศนคติ, ทักษะความรู้, การบริการ และการบริหาร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างผู้เรียนให้ก้าวไปสู่การเป็นช่างทำผมมืออาชีพต่อไป

“แฮร์สไตลิสต์และวงการช่างทำผมของเมืองไทย ถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงมากที่สุด เพราะมีใจบริการแต่ขาดหลักบริหาร ร้านทำผมบ้านเราตอนนี้เหมือนมวยวัด เวลาลูกค้าทำผมไม่ถูกใจจะเคลมอะไรก็ไม่ได้ ดังนั้นหากมีการเปิดเออีซีอย่างเป็นทางการ ยิ่งต้องพัฒนาแฮร์สไตลิสต์และวงการช่างทำผมให้มีความเข้มแข็ง โดดเด่นและสามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศสมาชิกให้ได้ สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างจุดแข็ง ประการแรกต้องเพิ่มทักษะภาษา ประการต่อมาเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, สร้างแบรนด์สินค้ามากกว่าชูตัวเองเป็นหลัก, ชาญฉลาดบริหารการเงิน และจัดบริหารร้านอย่างมีระบบ”

ด้าน วีรชัย ศรีขจร ผอ. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ กล่าวว่า การจัดมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพและระดับคุณวุฒิวิชาชีพ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาช่างทำผมไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล รองรับการแข่งขัน รวมถึงการเคลื่อนย้ายกำลังแรงงานระหว่างประเทศ โครงการดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากนำออกสู่สาธารณะนำไปใช้จริง เราจะเห็นวงการช่างทำผมเมืองไทยได้รับการยกระดับ พัฒนาการบริหารจัดการอย่างมีระบบ มีมาตรฐานมากขึ้น และจะได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาช่างทำผมภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 อย่างแน่นอน.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 18 มีนาคม 2557