Page 1 of 1

วิศวกรสันติวิธีนักบำบัดความขัดแย้ง

Posted: 18 Mar 2014, 09:31
by brid.ladawan
วิศวกรสันติวิธีนักบำบัดความขัดแย้ง

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ. หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสันติศึกษา มจร. เล่าให้ฟังว่า ผลจากการดำเนินตามโครงการฯ นั้น ทำให้นิสิตได้พบ “รอยแห่งสันติภาพ

จากความมุ่งมั่นที่จะเห็นมนุษย์รักกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ขัดแย้ง กันนั้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) สำนักงานศาลยุติ ธรรม และสถาบันพระปกเกล้า จึงได้ร่วมมือกัน พัฒนาหลักสูตร “สันติศึกษา” ขึ้นมา โดยเริ่มต้นพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสันติภาพขึ้นภายในใจ โดยใช้หลัก “ภาวนาเพื่อสันติ” มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากล่อมเกลา สติ และปัญญาให้เกิดความแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถทนต่อกระแสของอคติ มีใจกว้าง อดทนและยอมรับต่อความแตกต่างอย่างมีสติ และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น อีก ทั้งผู้เรียนจะสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือจัด การความขัดแย้งและความรุนแรงโดยสันติ วิธีได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดรับกับสถานการณ์และความเป็นไปของโลกและชีวิต

การที่นิสิตหรือจะเรียกได้ว่า “วิศวกรสันติภาพ” จะเข้าใจและตระหนักรู้คุณค่าและความสำคัญของสันติภาพนั้น ตัวแปรที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่าน “ต้นธาตุต้นธรรมของสันติภาพ” ที่เป็นแบบอย่างในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน เพราะแบบอย่างที่ดีจะนำไปสู่การกระตุ้นเตือนให้นิสิตได้เกิดแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้ โครงการหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาจุฬาฯ รุ่นที่ 1 จึงได้นำนิสิตที่กำลังได้รับการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพเดินทางไปแสวงหาสันติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดียเป็นระยะเวลา 10 วัน ตามโครงการ “จาริกแดนพุทธภูมิตามรอยสันติธรรม”

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ. หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสันติศึกษา มจร. เล่าให้ฟังว่า ผลจากการดำเนินตามโครงการฯ นั้น ทำให้นิสิตได้พบ “รอยแห่งสันติภาพ” ที่พระพุทธเจ้าทรงจารึกเอาไว้เป็นหลักปฏิบัติกว่า 2,600 ปี ดังนี้ รอยที่ 1 ทางสายกลางคือ ทางแห่งความพ้นทุกข์ พุทธคยาเป็นจุดแรกที่วิศวกรสันติภาพได้ศึกษาและเรียนรู้จากสันติภายนอกสู่สันติภายในใต้ต้นโพธิ์ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ พระองค์ทรงใช้ความเพียรจนสามารถเอาชนะมารภายนอก และกิเลสมารภายในใจ แล้วค้นพบสันติสุขอย่างยั่งยืน และทรงชี้ให้ชาวโลกได้ตระหนักว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบนั้นไม่มี” รอยที่ 2 รักของพระพุทธองค์เป็นรักที่ไร้ขอบเขตและไร้เงื่อนไข วิศวกรสันติภาพเดินทางไปกราบรอยสันติภาพของพระพุทธองค์ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ในแคว้นมคธ ของพระเจ้าพิมพิสาร สถานที่แห่งนี้พระเทวทัตได้ลอบปลงพระชนม์ของพระองค์ด้วยการกลิ้งหินลงไปทับ และให้ปล่อยช้างนาฬาคีรีไปทำร้าย แต่พระองค์ได้ทรงแสดงให้ทุกคนได้ประจักษ์ว่า “พระองค์รักราหุลฉันใด ทรงรักพระเทวทัต และช้างนาฬาคีรีฉันนั้น” วิธีการทำลายศัตรูของพระองค์ คือ การดึงศัตรูมาเป็นมิตร

รอยที่ 3 ขันติธรรมนำสังคมให้พ้นทุกข์ วิศวกรสันติภาพได้ใช้เวลา 13 ชั่วโมง เดินทางจากนาลันทาซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระสารีบุตรเพื่อไปยังกรุงกุสินารา ซึ่งเป็นดินแดนที่พระองค์ทรงปรินิพพาน พระองค์ได้ส่งต่อลมหายใจแห่งสันติภาพให้แก่ชาวโลกไว้ที่เมืองแห่งนี้ รอยที่ 4 จุดเริ่มต้นประทีปแห่งสันติภาพ วิศวกรสันติภาพได้พากันข้ามจากประเทศอินเดียมุ่งสู่ประเทศเนปาล ยังแคว้นสักกะ ซึ่งมีชื่อว่า “ลุมพินี” อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ การเกิดขึ้นของพุทธองค์ คือ ทอประกายแสงแห่งสันติภาพ อันเป็นที่มาของการประกาศความเสมอภาค การมอบคืนอิสรภาพ และความเป็นใหญ่แก่มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะยากดีมีจนสักปานใดก็ตาม

รอยที่ 5 ความขัดแย้งจบได้ด้วยการเจรจา คณะวิศวกรสันติภาพได้ใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง ย้อนกลับเข้ามาในอินเดีย เพื่อตามรอยสันติภาพในพื้นที่ของกรุงสาวัตถี ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงใช้ธรรมสภาในวัดเชตวันเป็นพื้นที่ให้พระสงฆ์จากเมืองโกสัมพีที่ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะประเด็นเรื่องธรรมวินัย จนชาวโกสัมพีได้ลงโทษทางสังคม ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต ได้เจรจาพูดคุยหาทางออกให้แก่ข้อขัดแย้งดังกล่าว จนทุกเรื่องยุติ รอยที่ 6 ส่งทูตสันติภาพไปหว่านเมล็ดพันธุ์ ณ เมืองพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองแห่งการบูชาเทพเจ้าริมแม่น้ำคงคาเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์มากว่า 3,000 ปีถึงกระนั้นพระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะเสด็จมาใช้พื้นที่ภายในป่าอิสิปตนมฤคทายวันประกาศ “พุทธสันติวิธี” ซึ่งเป็นวิธีแห่งทางสายกลาง เพราะปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เกิดความผิดหวังที่เห็นพระพุทธองค์ละทิ้งแนวทางการปฏิบัติแบบสุดโต่ง ปัญจวัคคีย์จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่สามารถยืนยันว่า “มัชฌิมวิถีสันติวิธีวิถีพุทธ” ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนาชีวิตและสังคมให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และอยู่ร่วมกันกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างสันติสุข

เมื่อวิศวกรสันติศึกษาได้ไปประจักษ์ด้วยสายตาแล้ว เขารู้สึกอย่างไรกับการได้เรียนรู้จากต้นแบบสันติวิธีของพระพุทธองค์ นางวิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หนึ่งในนิสิตโครงการปริญญาโท สาขาวิชาสันติศึกษา มองว่า การที่เราได้มาอินเดียทำให้เห็นแนวทางพุทธสันติวิธีของพระพุทธองค์ ที่เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับการเรียนของ มจร. ซึ่งเนื้อหาของหลักสูตรนี้มีความทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ เพราะว่าสังคมไทยทุกวันนี้มีความขัดแย้งรุนแรง การแบ่งฝ่าย และก็เรื่องของการปรองดองก็จะเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกล่าวถึงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเรื่องของหลักสูตรของสันติศึกษาจะเป็นตัวที่จะมาตอบโจทย์แนวทางที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับโลก สังคมของประเทศไทยเรา หรือแม้แต่ในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในครอบครัว เรื่องของสันติศึกษาจะเรียกว่านำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตปัจจุบันของเราได้

เชื่อมั่นว่า การจาริกสันติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิตลอดเวลา 10 วัน จะก่อให้เกิดคุณูปการอย่างมหาศาลในการจุดประกายแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ผ่านการเรียนรู้จากแบบอย่างที่ทรงคุณค่า ผลดีที่จะเกิดตามมาหลังจากนี้ สังคมไทยจะมีวิศวกรสันติภาพรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณ และคุณภาพ อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดสนใจศึกษาหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งกำลังเปิดรับ รุ่นที่ 2 อยู่ในขณะนี้ สอบถามได้ที่ 08-1875-9154, 08-0289-4184, 0-2623-5393 หรือดูได้ที่ www.ps.mcu.ac.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่18มีนาคม 2557