Page 1 of 1

จี้ศธ.เปลี่ยนวิธีคิดอุดหนุนรายหัวเด็ก

Posted: 18 Mar 2014, 09:36
by brid.ladawan
จี้ศธ.เปลี่ยนวิธีคิดอุดหนุนรายหัวเด็ก

“สมพงษ์”เผยรัฐลงทุนการศึกษาต่อหัวสวนทางความจริง ชี้ควรทุ่มที่ปฐมวัย ขณะที่ สสค. คัดเลือกโรงเรียนต่อยอดให้เด็กมีสุขภาวะที่ดีควบคู่กับการเรียน

วันนี้ (17 มี.ค.) ที่อาคารไอบีเอ็ม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเปิดโครงการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็ก และเยาวชน โดยคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่เคยทำผลงานดีเด่นในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ครั้งที่ 1/2554 มาทำงานต่อยอด โดยเพิ่มประเด็นการส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา หรือสุขภาวะที่ดีให้โรงเรียนเข้มแข็งยิ่งขึ้น

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อดูงานวิจัยเกี่ยวกับรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ในปี 2553 พบว่า งบประมาณการศึกษาต่อหัวที่รัฐบาลลงทุนต่อเด็กระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาสูงกว่าระดับปฐมวัย โดยระดับปฐมวัยลงทุน 23,282 บาท ขณะที่ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ลงทุน 26,332 บาท และ 24,933 บาทตามลำดับ ซึ่งสวนทางความเป็นจริง เพราะการศึกษาต้องลงทุนกับเด็กระดับปฐมวัยถึงจะคุ้มค่า โดยจะได้กำไรคืนถึง 7 เท่า ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะสมองเด็กจะเติบโตสมบูรณ์ทั้งไอคิว และอีคิวในระดับปฐมวัยสูงถึง 80%

“สังคมเสื่อม การเมืองรุนแรง เน้นวัตถุนิยม ครอบครัวตาย ศีลธรรมจางหาย กระทรวงศึกษาธิการบ้าโอเน็ต เป็นนิยามที่ตรงกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นต้องเลิกการสอบที่มุ่งแข่งขัน และจัดการศึกษาให้เด็กมีความสุข สนุกกับการเรียน ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมตั้งแต่ปฐมวัย โดยสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การลงทุนทางการศึกษากับเด็กปฐมวัย เพราะสามารถประกันอนาคตทางปัญญา และสุขภาวะแจ่มใสให้เด็กได้” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ดร.อุบล เล่นวารี อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมนวัตกรรมฯ ดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1.ส่งเสริมสมรรถนะการอ่าน 2.สนุกกับการเรียนรู้ และ 3.สร้างเสริมคุณลักษณะที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา เพราะหากเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ต่อยอดไปเรื่องอื่นๆได้ ทั้งนี้เมื่อมีการต่อยอดเพิ่มประเด็นสุขภาวะเข้าไป จะทำให้เด็กเติบโตมามีสุขภาพแข็งแรง และมีจิตใจดีงาม ซึ่งเป็นการสร้างอนาคตที่ดีของประเทศไทย

ขณะที่นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า เราต้องเร่งสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็ก โดยองค์ประกอบในการสร้างสุขภาวะให้แก่เด็กและเยาวชน คือ 1.การบริหารจัดการภายในโรงเรียน 2.สภาพแวดล้อมของโรงเรียน 3.การจัดการเรียนการสอน และ 4.การมีส่วนร่วมของทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองของเด็กด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมูลนิธิโรเบิร์ต วู้ด จอห์นสัน ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและสุขภาพที่ดีว่า ร้อยละ 77.2 ของผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาต่ำกว่า ม.6 จะมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก และมีเพียงร้อยละ 29.8 ที่ระบุว่า เด็กที่จบวิทยาลัยมีสุขภาพดี

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 17 มีนาคม 2557