Page 1 of 1

‘ดีเอสไอ’เดินหน้าลุยคดีค้ามนุษย์ สาวไทยถูกลวงไปทำงานต่างแดน

Posted: 18 Mar 2014, 10:01
by brid.ladawan
‘ดีเอสไอ’เดินหน้าลุยคดีค้ามนุษย์ สาวไทยถูกลวงไปทำงานต่างแดน

ปัญหาการค้ามนุษย์หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากได้เผชิญกับเหตุการณ์แม้จะไม่ได้ถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยวด้วยกำลัง แต่การถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยการข่มขู่ บังคับให้ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ก็ถือเป็นการค้ามนุษย์ได้เช่นกัน

ปัญหาการค้ามนุษย์หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากได้เผชิญกับเหตุการณ์แม้จะไม่ได้ถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยวด้วยกำลัง แต่การถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยการข่มขู่ บังคับให้ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ก็ถือเป็นการค้ามนุษย์ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ 3 ราย ซึ่งเดินทางไปทำงานในแอฟริกาใต้ ผ่านการสมัครงานและติดต่อบริษัทหางานทางอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับถูกยึดหนังสือเดินทาง พร้อมอ้างหนี้ก้อนโตที่เหยื่อต้องทำงานชดใช้แลกค่าตอบแทนน้อยนิด ไปจนถึงการต้องทำงานล่วงเวลาจนเหยื่อทนสภาพไม่ไหวต้องยอมดิ้นรนติดต่อญาติให้นำเงินไปจ่ายให้นายจ้างเพื่อคืนอิสรภาพก่อนเดินทางกลับประเทศ หรือบางรายอาจต้องจบชีวิตก่อนได้เดินทางกลับ

นับเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ที่คิดจะเลือกไปทำงานในต่างประเทศว่าควรตรวจสอบที่มาที่ไปและระมัดระวังการหางานในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกล่อลวงตกเป็นเหยื่อวงการค้ามนุษย์โดยไม่รู้ตัว!!

เปิดแฟ้มคดีเก่า ขอหยิบยกเหตุการณ์ช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือเหยื่อให้เดินทางกลับประเทศไทยได้สำเร็จ จากความร่วมมือของหลายหน่วยงานทั้ง กรมการกงสุล กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมการปกครอง และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หลังจากมีผู้เสียหายจาก จ.กาญจนบุรี ที่ดิ้นรนติดต่อญาติให้ส่งเงินไปให้เพื่อใช้หนี้นายจ้างในร้านนวดแผนไทย ประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อแลกกับการคืนหนังสือเดินทาง กลับมาประเทศไทย จากนั้นจึงมาร้องขอความช่วยเหลือจาก นายศรัทธา คชพลายุกต์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี เพื่อให้ช่วยน้องสาว ที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ตั้งแต่เมื่อเดือน ต.ค. 56

ก่อนหน้านี้ 2 พี่น้องได้สมัครงานผ่านทางบริษัทที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ตที่ต้องการรับสมัคร พนักงานนวดแผนไทยแผนโบราณ ไปทำงานในประเทศแอฟริกาใต้ แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับถูกนายจ้างที่เป็นคนไทยยึดหนังสือเดินทางไว้เป็นหลักประกัน เพื่อให้ชดใช้หนี้ก้อนแรก 1 แสนบาท โดยนายจ้างอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการมาทำงาน ทั้งที่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้มีมูลค่าสูงขนาดนั้น นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้แรงงานและกักขังไว้ในร้านโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือถ้าได้ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายกลับมาได้ 3 ราย พร้อมกับเร่งขยายผลตรวจสอบว่าเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่?

ทีมข่าวเดลินิวส์ ติดต่อสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ไพศิษฏ์ สังคหะพงศ์ ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ดีเอสไอรับผิดชอบสืบสวนคดีดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสักระยะเพื่อให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรมว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ค้ามนุษย์หรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ไม่มีลักษณะของการกักขังเพื่อใช้แรงงาน แต่เมื่อสืบสวนในรายละเอียดและสอบปากคำเหยื่อพบว่าการบังคับขู่เข็ญให้เหยื่อทำงาน การยึดหนังสือเดินทางและให้ทำงานล่วงเวลาแลกกับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม สามารถดำเนินการเอาผิดฐานค้ามนุษย์ได้เช่นกัน

“ผมเตรียมจะเสนอให้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ รับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ เป็นความผิดแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ หลังจากนั้นดีเอสไอจะโอนคดีที่เหยื่อแจ้งความไว้กับ สภ.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มาเป็นคดีพิเศษทันที”

ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กล่าวต่อว่า ได้เดินทางเข้าพบกับตำรวจแอฟริกาใต้เพื่อประสานงานทางคดีทราบว่าสถานทูตก็ทราบพฤติกรรม ขณะนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลว่าบริษัทที่เป็นนายหน้ามีการทำธุรกิจในรูปแบบใด เพราะร้านนวดที่บริษัทจัดหางานในประเทศไทยส่งไปให้ที่แอฟริกาใต้มีหลายสาขา โดยเหยื่อที่เดินทางไปทำงานจะมีการเวียนไปทำงานตามสาขาต่าง ๆ ดังนั้นหลังรับเป็นคดีพิเศษจะต้องเจาะลึกไปถึงความเชื่อมโยงของบริษัทจัดหางานกับร้านนวดที่ตั้งอยู่ต่างประเทศว่ามีการทำงานสอดรับกันอย่างไร

หากพบหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวพันกันก็ต้องถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เช่นเดียวกัน!!

ปัจจุบันรูปแบบการ ’ค้ามนุษย์“ ที่ยังพบเห็นนั้นแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลัก คือ การถูกล่อลวงไปค้าประเวณี อีกกลุ่มคือ แรงงานที่สมัครใจ เดินทางไปทำงานหาเงินในต่างประเทศ แต่เมื่อไปถึงแล้วไม่ได้ทำงานแบบที่สัญญากันไว้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องก็พยายามรณรงค์หาทางป้องกันแก้ไขมาต่อเนื่อง แต่ยังคงมีประชาชนที่หลงกลตกเป็นเหยื่อ!

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 10 มีนาคม 2557