Page 1 of 1

"นอนไม่หลับ-นอนกรน" ภัยเงียบก่อสารพัดโรค

Posted: 18 Mar 2014, 10:08
by brid.ladawan
"นอนไม่หลับ-นอนกรน" ภัยเงียบก่อสารพัดโรค

แพทย์เตือนภัยเงียบ 'นอนไม่หลับ'-'นอนกรน' ก่อสารพัดโรค รุนแรงสุดถึงขั้นเสียชีวิต ระบุพบเจอในคนไทย 10% ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และคนอ้วน
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย และศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช รพ.ศิริราช ร่วมกันเปิดกิจกรรมวันนอนหลับโลก (World Sleep Day) โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ศ.นพ.ประพาฬ ยงใจยุทธ นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย, ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ประธานศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช รพ.ศิริราช, รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงษ์ ประธานชมรมศิริราชอาวุโส ร่วมในพิธี
ศ.นพ.นิพนธ์กล่าวว่า ปัญหาการนอนหลับพบว่าทั่วโลกมีมากถึง 10-15% สำหรับประเทศไทย พบปัญหาป่วยจากการนอนถึง 7 ต่อ 100 คน พบมากคือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน ซึ่งการนอนไม่พอส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน เกิดภาวะหลงลืม นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายที่นอนไม่พอนั้นเกิดจากการฝันร้าย ขณะที่การนอนกรนก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเกิดจากภาวะทางเดินหายใจตีบ ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย มีคาร์บอนไดออกไซด์คลั่งในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจชั่วคราว จึงนับเป็นภัยเงียบ ทั้งนี้ การรักษาต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสำรวจการนอนของผู้ป่วยและวิเคราะห์ผล จึงจะสามารถเริ่มรักษาได้ ซึ่งมีทั้งวิธีการให้ยาและผ่าตัดขยายทางเดินหายใจ
ผศ.นพ.วัฒนชัย โชตินัยวัตรกุล สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า อาการนอนไม่หลับจนไม่สามารถทำกิจกรรมปกติได้ในช่วงกลางวันนั้น แพทย์ถือว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ ซึ่งเกิดจากการนอนไม่เป็นเวลา และการใช้ยานอนหลับ จนพฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะจะส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกับเครื่องจักร คนขับรถ ทั้งนี้ อาการนอนไม่หลับถือว่าพบเจอบ่อยที่สุด โดยสถิติของการเกิดโรคดังกล่าวอยู่ที่ 10% ทั้งในประเทศและทั่วโลก พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง บางรายอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนเพียงเท่านั้น แต่หากรุนแรงมากจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างถูกวิธี
พญ.พิมล รัตนาอัมพวัลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ กรรมการศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช กล่าวว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือนอนกรน ส่งผลให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด และเกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิต แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเสียชีวิตจากโรคอื่นที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคนอนไม่หลับ หรือโรคนอนกรน ทั้งนี้ จากสถิติทั่วโลกพบว่าโรคดังกล่าวจะเป็นมากในผู้ชายเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ผู้หญิง 2% ส่วนสถิติในประเทศไทยก็ไม่ได้แตกต่างคือ เฉลี่ยอยู่ที่ 2-4% ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย สำหรับวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคที่เป็น ซึ่งบางกรณีสามารถแก้ไขได้ทันที เช่น เรื่องน้ำหนักตัว นอนตะแคง นอนหนุนหมอนหรือยกหัวเตียงสูง หลีกเลี่ยงการรับประทานยานอนหลับ การดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วง 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเลิกสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีก็ไม่สามารถแก้ไขได้ต้องใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกขณะหลับ หรือซีแผบ
พญ.พิมลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีอีก 6 กลุ่มโรคใหญ่ๆ คือ นอนละเมอ การเปลี่ยนช่วงเวลาที่ไม่สัมพันธ์กับช่วงชีวิต เช่น ผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ การขยับร่างกายผิดปกติในขณะที่นอน เช่น ขากระตุก อยู่ดีๆ ก็ง่วงผิดปกติ โรคทางจิตเวช โรคทางกาย เช่น ซึมเศร้า ไตวาย.

ที่มา ไทยโพสต์
วันที่ 18 มีนาคม 2557