Page 1 of 1

เปิดเครื่อง ครั้งแรกกับนาฬิกาจีพีเอส

Posted: 18 Mar 2014, 13:47
by brid.ladawan
เปิดเครื่อง ครั้งแรกกับนาฬิกาจีพีเอส

เชื่อว่า ไม่ว่าใครก็มักจะจดจำช่วงเวลาครั้งแรกได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเจอกับคนรัก "ครั้งแรก" การไปต่างประเทศ "ครั้งแรก" การเข้ามหาวิทยาลัย "ครั้งแรก" ดังนั้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นเป็น "ครั้งแรก" จึงมีความพิเศษเสมอ และมันจะตราตรึงในความทรงจำไม่รู้ลืม
ประสบการณ์ "ครั้งแรก" ถือเป็นตัวแปรสำคัญ และจะชี้ขาดว่า ชีวิตจะ "ชอบ" หรือ "ไม่ชอบ" กับสิ่งนั้น
และในสัปดาห์นี้เอง ผู้เขียนก็มีประสบการณ์ "ครั้งแรก" เช่นกัน.... อะแฮ่ม อย่าเพิ่งคิดลึกนะครับ ที่บอกว่าครั้งแรกนี้ เป็นครั้งแรกสำหรับการใช้งานนาฬิกาจีพีเอส ร่วมกับการวิ่ง นะครับ 555
ขอเกริ่นไว้ก่อนว่า ผู้เขียนก็ชอบการวิ่งเพื่อออกกำลังกายมานานแล้ว และที่ผ่านมาก็เคยมีความคิดที่จะสอย นาฬิกาจีพีเอสซักเรือนมาเป็นอุปกรณ์เสริมในการวางแผนการออกกำลังกายเหมือนกัน แต่เนื่องจากยังมองว่านาฬิกาจีพีเอสเป็นของฟุ่มเฟื่อยสำหรับคนที่วิ่งบ้าง-ไม่วิ่งบ้างอย่างผู้เขียน แถมแอพฯ บางตัวในสมาร์ทโฟนก็ใช้งานทดแทนได้เช่นกัน
แต่เมื่อได้ทดลองใช้ Garmin Forerunner 620 ทดสอบการวิ่งเป็นครั้งแรกพบว่า ได้ประสบการณ์ใหม่ที่ประทับใจหลายอย่าง เริ่มจากรูปร่างหน้าตาของมันก่อน เจ้าตัวนี้ดูเผินๆ นั้นไม่ต่างกับนาฬิกาแฟชั่นทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถใส่ได้เข้ากับเสื้อผ้าหลากหลายแนว น้ำหนักค่อนข้างเบา 43 กรัม สายเป็นพลาสติกที่คล้ายๆ ยาง เป็นสีทูโทน ที่มาพร้อมรูระบายอากาศเพียบ ไม่ต้องห่วงเรื่องเหงื่อตรงบริเวณที่ใส่ เพราะมันไม่อมน้ำ และยังกันน้ำได้ 50 เมตร
ทีนี้มาลองเริ่มต้นใช้งานกัน บอกเลย เจ้านาฬิการุ่นนี้ไม่ได้ใช้แบตเตอรี่จากถ่าน แต่มาจากการชาร์จไฟฟ้า ซึ่งในกล่องมีสายชาร์จมาให้ โดยทางเทคนิคเขาบอกว่า ถ้าใช้งานเป็นนาฬิกาอย่างเดียว ชาร์จเต็ม 1 ครั้ง สแตนด์บายได้ 6 สัปดาห์ แต่ถ้าใช้งานในโหมดเทรนนิ่งจับระยะทาง จะทำงานได้เต็มที่ 10 ชั่วโมง
บอกเลย เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้ Garmin จับเทคโนโลยีที่ช่วยทางด้านการวิ่งมาเพียบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ HRM-Run™ (มีสายคาดมาให้พร้อม) หรืออุปกรณ์วัดความสั่นในแนวตั้ง (vertical oscillation) ที่ช่วยให้จับจังหวะการวิ่ง แถมยังสามารถเชื่อมต่อและส่งข้อมูลอย่างหลากหลาย ทั้ง WiFi, Bluetooth และ ANT+ (เชื่อมต่อกับ HRM-Run™ เรียกได้ว่าทุกข้อมูลเกี่ยวกับการวิ่งทุกๆด้าน เจ้าเครื่องนี้มีสมองกลช่วยประเมินให้ได้หมด แจ๋วไหมล่ะ
ส่วนการใช้งานก็ง่ายแสนง่าย ตัวเครื่องหน้าปัดทรงกลม มีปุ่มให้กดเพียง 4 ปุ่ม คือ เปิด-ปิด, เปลี่ยนโหมดเป็นนาฬิกา, ปุ่มสำหรับเริ่มต้นวิ่ง และปุ่มสำหรับใช้ฟังก์ชัน เชื่อมต่อ และหน้าปัดของนาฬิกายังเป็นทัชสกรีน ที่จะมีปุ่มกดเมนู และถอยกลับ เลือกในการใช้งานได้ด้วย อย่างไรก็ดี การทัชสกรีนที่หน้าจออาจจะลำบากหน่อยสำหรับคนที่มีนิ้วมือใหญ่ และการตอบสนองนั้นไม่ดีเท่าหน้าจอสมาร์ทโฟน แต่รวมๆ ก็ถือว่าสั่งงานง่าย
เริ่มต้นวิ่ง เราก็ไม่ต้องไปตั้งค่าอะไรวุ่นวาย อาจจะเข้าไปที่ Setting แล้วกรอกข้อมูลร่างกาย ส่วนสูง น้ำหนัก อายุ ซักหน่อย เพื่อเพิ่มความแม่นยำทางการคำนวณ เปิดเครื่องในที่โล่ง รอไฟสัญญาณจีพีเอสกะพริบ และดูว่าการเชื่อมต่อกับ HRM-Run™ เรียบร้อย (มันจะขึ้นว่า Detect และมีสัญลักษณ์รูปหัวใจกะพริบก็เป็นอันใช้ได้ จากนั้นก็เริ่มวิ่งกันเลย
ในที่นี้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานแล้วว่า มีวัตถุประสงค์ในการวิ่งอย่างไร สามารถตั้งค่าได้หมด จะดูรอบ (Lap) ก็ทำได้ ผู้เขียนเลือกใช้ค่ากลาง Lap 1 กิโลเมตร พอวิ่งครบ 1 กิโลเมตร นาฬิกาก็จะสั่นบอกข้อมูลว่าเราใช้เวลาเท่าไหร่ในการวิ่ง 1 กิโลเมตร
ที่ชอบอีกหลายอย่างใน Forerunner 620 คือ ฟังก์ชันอย่าง VO2 max ที่นาฬิกาจะทำหน้าที่สมองกล ประมาณการทดสอบสมรรถนะร่างกาย การใช้ออกซิเจน แบบว่าให้ผลวัดฟิตเนสทางร่างกายดีเยี่ยม และที่ชอบอีกอย่างคือ ฟังก์ชัน Recovery advisor ที่เครื่องจะทำการคำนวณว่า ต้องใช้เวลาฟื้นฟูขนาดนี้ ที่จะกลับมาฝึกวิ่งแบบหนักๆ ได้อีกครั้ง
ยังมีอีกหลายฟังก์ชันที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่สำหรับคนที่ต้องการจะเป็นนักวิ่งที่มีฝีเท้า ความฟิตที่ดีขึ้น ต้องลองซักครั้ง กับนาฬิกา Forerunner 620 กับราคา 15,xxx บาท เชื่อว่าจะติดใจแน่นอน.

ที่มา ไทยโพสต์
วันที่ 16 มีนาคม 2557