Page 1 of 1

สมศ.สรุปประเมินรอบสี่ ใช้โอเน็ต-วีเน็ต-ยูเน็ต

Posted: 19 Mar 2014, 16:46
by brid.ladawan
สมศ.สรุปประเมินรอบสี่ ใช้โอเน็ต-วีเน็ต-ยูเน็ต

สมศ. ได้ข้อสรุปใช้โอเน็ต-วีเน็ต-ยูเน็ตเป็นตัวบ่งชีประเมินรอบสี่ ชี้ยังเชื่อมั่นเป็นคะแนนจากหน่วยงานกลางที่มีความเที่ยงธรรม "ชาญณรงค์" เผยรอบ 4 จะใช้ "ไทยเนส" เป็นตัววัดรร.นานาชาติครั้งแรก

วันนี้(19 มี.ค.)ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมศ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือว่า ควรจะนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา หรือ วีเน็ต และ การทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ ยูเน็ต มาเป็นตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (ปี2559-2563)หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ควรนำผลการทดสอบดังกล่าวมาใช้แม้ขณะนี้จะมีเสียงจากสังคมว่า โอเน็ตไม่ได้สะท้อนคุณภาพของนักเรียนที่แท้จริงและข้อสอบไม่ได้มาตรฐาน แต่ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องข้อสอบสามารถพัฒนาได้ และ สทศ.ก็รับที่จะไปพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานของการจัดทดสอบต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นและเป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วนจะใช้ผลโอเน็ต วีเน็ต และ ยูเน็ตในสัดส่วนเท่าใดนั้น ต้องพิจารณาอีกครั้งเพราะการดูคุณภาพของศิษย์จะดูเฉพาะการสอบอย่างเดียวไม่ได้ต้องดูองค์รวมทั้งสุขภาพกายจิตใจ และสติปัญญา ด้วย

"เราคงปฏิเสธคะแนนเหล่านี้ไม่ได้ เพราะ สทศ.เป็นหน่วยงานกลางที่จัดทำข้อสอบ จึงทำให้คะแนนที่ออกมามีความเที่ยง แม้มาตรฐานข้อสอบจะมีคำถาม แต่ข้อสอบก็เป็นฉบับเดียวกันทั้งประเทศ ถ้าจะเบี้ยวก็เบี้ยวเหมือนกันหมด แต่ก็ทำให้เรารู้คะแนนในภาพรวมได้" ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวและว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กำลังปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ลงจาก8 เหลือ6กลุ่ม ซึ่ง สทศ.ก็จะจัดสอบให้เหลือ6วิชา และ สมศ.ก็จะปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับในอนาคตต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับหลักสูตร แต่การประเมินรอบสี่ยังคงเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์ ซึ่ง สทศ.จะแยกคะแนนในส่วนเหล่านี้ให้ด้วย

ผอ.สมศ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนจะใช้ผลวีเน็ต ผลการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ หรือ วีคิว และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ หรือ วีคิวเอฟ โดยนำคะแนนแต่ละส่วนมาเป็นตัวบ่งชี้แต่ต้องหารืออีกครั้งว่า จะใช้แต่ละส่วนในสัดส่วนเท่าใด ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาจะใช้ผลยูเน็ตเป็นตัวบ่งชี้ ส่วนกลุ่มโรงเรียนนานาชาติจะเป็นครั้งแรกที่ สมศ.จะใช้ผลการสอบวัดความเป็นไทย หรือ ไทยเนส เป็นตัวบ่งชี้ในการประเมิน ซึ่งจะวัดเรื่องภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย เพราะที่ผ่านมาจะไม่มีการประเมินเรื่องเหล่านี้ โดย สทศ.จะเป็นผู้จัดสอบให้แต่ทางสถานศึกษา หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งนี้มติจากที่ประชุมดังกล่าวจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมศ.ปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 19 มีนาคม 2557