Page 1 of 1

เห็ดระโงกเพาะได้มีกินทุกปี

Posted: 21 Mar 2014, 13:15
by brid.ladawan
เห็ดระโงกเพาะได้มีกินทุกปี

บนเนื้อที่ 200 ตารางวาที่ทำการทดลองภายในศูนย์ฯ พบว่าใช้เวลาเพียง 1 เดือน หลังจากการปลูกต้นไม้ก็จะมีเห็ดงอกขึ้นมาจนเก็บผลผลิตได้ไม่น้อยกว่า 60 กก.

ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยตึ๊กชู อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ได้ทำการศึกษาวิธีการทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ในหลายกิจกรรมด้วยกัน หลายกิจกรรมประสบความสำเร็จจนสามารถขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องตลอดมา

และอีกกิจกรรมหนึ่งที่นับว่าเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในการนำไปปฏิบัติใช้ก็คือกิจกรรมของงานพัฒนาป่าไม้ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่า โดยการส่งเสริมให้ราษฎรมีจิตสำนึกในการปลูกไม้ยางนา เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และใช้ประโยชน์เพื่อการใช้สอยในชุมชน และในระหว่างการเจริญเติบโตของต้นยางนา ก็ได้ทำการศึกษาค้นคว้าผลผลิตตามธรรมชาติจากป่าเพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ควบคู่กันไปด้วย

และจากที่ชาวอีสานมีวิถีชีวิต ดำรงชีพด้วยการรับประทานของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ดป่า จึงได้ทำการวิจัยการเพาะเห็ดระโงกในป่าปลูกขึ้น และประสบผลสำเร็จสามารถขยายผลไปยังพื้นที่ป่าปลูกแห่งอื่น ๆ ได้ ขั้นตอนการเพาะเห็นระโงกในป่าปลูกนั้นทางศูนย์ฯ ได้เริ่มต้นด้วยการนำเห็ดแก่มาขยี้ละลายกับน้ำ กรองเอาเศษกากเห็ดออก นำน้ำที่ได้ไปหยอดลงในถุงต้นกล้าไม้ยางนา หรือกล้าไม้ที่จะปลูก เมื่อนำกล้าไม้ไปปลูกเชื้อเห็ดก็จะไหลลงไปในดิน เมื่อฝนตกลงมาเห็ดก็งอกขึ้นในพื้นที่ระหว่างแปลงของต้นยางนาและต้นไม้อื่น ๆ และจากการดำเนินการด้วยวิธีดังกล่าวพบว่าเห็ดมีปริมาณการงอกดีกว่าในสภาพป่าธรรมชาติทั่วไปอีกด้วย

บนเนื้อที่ 200 ตารางวาที่ทำการทดลองภายในศูนย์ฯ พบว่าใช้เวลาเพียง 1 เดือน หลังจากการปลูกต้นไม้ก็จะมีเห็ดงอกขึ้นมาจนเก็บผลผลิตได้ไม่น้อยกว่า 60 กก. ซึ่งราคาขายโดยทั่วไปจะอยู่ที่ กก.ละ 200 บาท ก็จะได้เงินประมาณ 12,000 บาท ต่อพื้นที่ 200 ตารางวา ซึ่งการค้นพบครั้งนี้นับเป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ และที่สำคัญราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากการหาเห็ดป่าก็จะได้ให้ความสำคัญกับการมีต้นไม้ในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะยางนาที่นับวันจะลดน้อยถอยลงทุกขณะ

สำหรับเห็ดระโงกนั้นจัดเป็นราไมคอร์ไรซา ที่มีความสัมพันธ์กับไม้วงศ์ยางในลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันกับเซลล์ของรากพืช โดยที่ต่างฝ่ายก็ได้รับประโยชน์ ราจะช่วยดูดน้ำและธาตุอาหารจากดิน โดยเฉพาะฟอสฟอรัส ให้แก่พืช ส่วนราก็ได้สารอาหารจากพืชที่ขับออกมาทางรากสำหรับใช้ในการเจริญเติบโต เช่น น้ำตาล โปรตีนและวิตามินต่าง ๆ

นอกจากนี้ราไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อก่อโรคพืช ต้นกล้าที่มีราไมคอร์ไรซาจึงมีการอยู่รอดมากกว่าพืชที่ไม่มีราไมคอร์ไรซา เพราะสามารถทนแล้งและธาตุอาหารต่ำได้ดีกว่าต้นกล้าที่ไม่มีราไมคอร์ไรซา เมื่อความชื้นและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เหมาะสมราไมคอร์ไรซาจะเจริญและพัฒนาเป็นดอกเห็ดขึ้นมาให้คนเราเก็บมาบริโภคได้

เห็ดระโงกเป็นเห็ดที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายในแถบเอเชีย ในประเทศไทยมีเห็ดระโงกวางขายในตลาดทั่วไปในช่วงฤดูกาล ชาวอีสานถือว่าเห็ดระโงกเป็นราชาเห็ดอีสาน ซึ่งจะเริ่มออกช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคมเรื่อยไปจนสิ้นฤดูฝน

ท่านใดที่สนใจและมีพื้นที่ป่าชุมชนหรือมีต้นยางนา หรือต้องการจะปลูกต้นยางนาในพื้นที่และต้องการมีเห็ดระโงกไว้ให้เก็บกินทุกปีเมื่อถึงฤดูกาล เข้าไปศึกษาถึงวิธีการปลูก เรียนรู้และเพิ่มความเข้าใจโดยรายละเอียดเข้าไปเรียนรู้และศึกษาดูงานได้ที่ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยตึ๊กชู อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น.
บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 21 มีนาคม 2557