Page 1 of 1

แพทย์ดีเด่นในชนบทปี 2556 มุ่งใช้ระบบแพทย์จุดยืนเพื่อสันติสุข

Posted: 25 Jun 2014, 16:44
by brid.siriwan
แพทย์ดีเด่นในชนบทปี 2556 มุ่งใช้ระบบแพทย์จุดยืนเพื่อสันติสุข

เชิดชูเกียรติคุณของแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์ และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพ
เชิดชูเกียรติคุณของแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์ และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ โดยเฉพาะบัณฑิตแพทย์ที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในชนบทให้มีทัศนคติที่ดี และมองเห็นคุณค่าของการทำประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคมในชนบท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ก่อตั้งรางวัล “แพทย์ดีเด่นในชนบท” ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ประกาศและมอบรางวัล “แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2556” ให้แก่ นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผอ.โรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี แพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้นาน 20 ปี

รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2556 กล่าวถึงการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทว่า พิจารณาจากคุณสมบัติหลายประการ ประกอบด้วย การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษย สัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช แม้ นพ.นิรันดร์ เป็นคนกรุงเทพฯ แต่เสียสละไปทำงานในชนบทที่ห่างไกลและอันตรายตั้งแต่จบแพทย์ ในภาวะวิกฤติทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงและความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลับเป็นโอกาสให้พัฒนากระบวนการสื่อสาร ดูแลแบบองค์รวม และเยียวยาจิตใจของบุคคลในโรงพยาบาล ผู้ป่วย ญาติ และคนในชุมชนให้สามารถอยู่กันได้อย่างสันติสุข จึงเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งให้แพทย์ที่จบใหม่เห็นคุณค่าของการทำงานในโรงพยาบาลชุมชน และเรียนรู้ถึงความสุขของชีวิตแพทย์ในชนบท

ผู้ได้รับรางวัล นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต กล่าวว่า เมื่อปี 2533 ระหว่างเรียนปี 3 คณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล มีโอกาสฟังปาฐกถาของรุ่นพี่ที่ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท จุดประกายให้เกิดแรงบันดาลใจบวกกับมีคนชวนให้ไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงตัดสินใจไปทำงานในภาคใต้ ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่สร้างตัวเองขึ้นมา มีความบริบูรณ์ทางด้านสติปัญญา และมอบตัวเองให้สังคมโดยไม่หวังผลอะไร ส่วนรางวัลที่ได้มาไม่ได้คิดว่าเป็นตัวเองที่ได้รางวัล แต่คิดว่าเป็นตัวแทนคนทำงานในชนบททุกคนรับรางวัลอันมีคุณค่าจากสังคม คนชนบทมีจำนวนมากกว่าคนในเมืองแต่กลับมีหมอน้อยกว่า หากหมอในชนบทไม่ยืนหยัดอาจทำให้การรักษาจำกัดอยู่แค่ในเมือง พื้นที่ภาคใต้มีความพิเศษไม่ได้มีแต่ความทุกข์ ท่ามกลางความทุกข์ยังมีโอกาสให้ได้เห็นคุณค่าในอาชีพของตัวเอง ตนเชื่อมั่นในสันติภาพที่นำโดยระบบสุขภาพ ใครมาโรงพยาบาลก็ตามไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนาใด ล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์ที่ต้องการบริการที่ดีที่สุด อยากให้วิชาชีพของหมอได้ช่วยเหลือเยียวยาสังคม ทำให้สังคมสันติสุข ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเดินตามเป้าหมายที่อยากให้ระบบสุขภาพเป็นจุดยืนของสันติสุข เมื่อใดที่เกิดความท้อแท้ หดหู่ หรือความกลัวใช้หลักศาสนาในการยึดเหนี่ยวจิตใจ ผลักดันให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อคนชนบทตลอดมา

จากการทำงานเพื่อชุมชนมาโดยตลอด เจ้าของรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 2556 ขอฝากถึงแพทย์รุ่นใหม่ว่า วิชาแพทย์เป็นทรัพย์สินที่มีค่า เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคน คณะแพทย์ได้เจียระไนเพชรเม็ดงามซึ่งจะทรงคุณค่ามากถ้ากระจายไปทั่วท้องฟ้ายามมืดมิดในชนบทที่ห่างไกล น้อง ๆ ทุกคนสามารถทำสิ่งมีคุณค่าในชนบทได้ และจะเป็นความภาคภูมิใจตลอดชีวิต ส่วนตัวคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เป็นแพทย์ชนบทยาวนานถึงทุกวันนี้คือ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ที่ทำให้คิดได้ว่า จริง ๆ เราไม่ได้เลือกที่ที่เราอยากจะไปหาความสุข แต่เราเลือกที่จะมีความสุขอยู่ที่นั่นได้.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 18 มิถุนายน 2557