Page 1 of 1

เกษตรกรเมืองลุงเดินหน้า... เปิดพื้นที่เมืองเกษตรสีเขียว - ดิ

Posted: 25 Jun 2014, 16:54
by brid.siriwan
เกษตรกรเมืองลุงเดินหน้า... เปิดพื้นที่เมืองเกษตรสีเขียว - ดินดีสมเป็นนาสวน

จังหวัดพัทลุงได้รับคัดเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องเมืองเกษตรสีเขียวในสาขาเกษตรผสมผสาน คือ ข้าว ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ และยางพารา

จังหวัดพัทลุง เป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรมากมาย ทั้งผัก ไม้ผล ยางพารา โดยเฉพาะข้าวสังข์หยด ที่นับเป็นพันธุ์ข้าวพันธุ์แรกของไทยที่ได้รับการรับรองให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือข้าวจีไอ (GI) ซึ่งความโดดเด่นเหล่านี้ทำให้จังหวัดพัทลุงได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่องโครงการเมืองเกษตรสีเขียว

นายปรีชา โพธิ์ปาน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงได้รับคัดเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องเมืองเกษตรสีเขียวในสาขาเกษตรผสมผสาน คือ ข้าว ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ และยางพารา ดังนั้น การพัฒนาที่ดินมุ่งสู่เมืองเกษตรสีเขียวจึงมีความหลากหลายตามไปด้วย เช่น พื้นที่นาข้าว ซึ่งมีการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งปัญหาดินกรด จึงเน้นไปที่การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด คือ ปอเทือง ปลูกและไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน เมื่อปลูกข้าวที่เป็นพืชหลักก็จะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนั้นก็จะมีกิจกรรมรณรงค์งดเผาตอซังฟางข้าว ซึ่งไม่เพียงแต่ไปทำลายธาตุอาหารในดินแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกิดเป็นก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของภาวะโลกร้อนด้วย

ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการเมืองเกษตรสีเขียว ในพื้นที่หมู่ 7 ต.โตนดด้วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยมีกิจกรรมการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด 3,000 ไร่ ปรับปรุงพื้นที่ดินกรดโดยใช้วัสดุปูน 2,000 ไร่ รณรงค์ไถกลบตอซัง 1,000 ไร่ ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก สูตรพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 150 ตัน ส่งเสริมการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เก็บตัวอย่างดินเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติของดินก่อน-หลังการใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน ตลอดจนฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการปรับปรุงบำรุงดินให้กับเกษตรกร 2,500 ราย อย่างไรก็ดี คาดว่าพื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุงบำรุงดินจะสามารถเพิ่มอินทรียวัตถุ ทำให้ดินมีสภาพสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายได้ ไม่ต่ำกว่า 25,000 ไร่

ทีนี้ หันมาดูทางด้านเกษตรกรกันบ้าง... นายสมบัติ ยังฤทธิ์ เกษตรกรในพื้นที่หมู่ 7 ที่เข้าร่วมโครงการเมืองเกษตรสีเขียว จังหวัดพัทลุง เล่าให้ฟังว่า เขามีพื้นที่อยู่ 6 ไร่ ปลูกข้าวทั้งพันธุ์สังข์หยด เล็บนกและชัยนาท 1 แต่ก่อนใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว โดยใช้ประมาณ 50 กก.ต่อไร่ ต้นทุนไร่หนึ่งไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ขณะที่ผลผลิตข้าวอยู่ที่ 450 กก.ต่อไร่ ส่วนเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวนั้นดีอยู่อย่างที่พื้นที่ภาคใต้ไม่ค่อยมีปัญหาแมลงศัตรูข้าวอย่างเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีเพียงปัญหาหอยเชอรี่ที่จำเป็นต้องอาศัยสารเคมีในการกำจัด เมื่อคำนวณรายจ่ายในการทำนากับรายได้ในการขายข้าวโดยเฉพาะถ้าเป็นข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ขายได้ที่เกวียนละ 6,000 บาท พันธุ์เล็บนกขายได้ 12,000 บาท นับว่าไม่ค่อยสมดุล บางปีถึงขั้นขาดทุนเลยก็มี แต่ถ้าเป็นพันธุ์สังข์หยดจะรายได้ดีหน่อยคือขายได้เกวียนละ 20,000 บาท

หลังจากกรมพัฒนาที่ดินเข้ามาทำโครงการเมืองเกษตรสีเขียว และอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมให้ปลูกปอเทืองแล้วไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ร่วมกับการใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เขาก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้เคมีให้น้อยที่สุด เช่น แต่ก่อนเคยใช้ยาฆ่าหอยเชอรี่ก็เปลี่ยนมาจับไปทำน้ำหมักชีวภาพแทน ซึ่งหลังจากได้ปรับปรุงบำรุงดินตามแนวทางของกรมพัฒนาที่ดิน ผลที่เห็นเด่นชัดคือ ดินดีขึ้น สังเกตจากมีไส้เดือน และมีกุ้ง หอย ปู ปลา อาศัยอยู่ในแปลงนาไม่เหมือนตอนใช้เคมี ไม่ค่อยมีสัตว์มาอาศัย

อีกอย่างที่ตามมาคือ ผลผลิตข้าวเริ่มเพิ่มขึ้นเป็น 500 กก.ต่อไร่ แม้ว่าจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมนักแต่เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ลดลงจากการลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี คือจะใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยเขาได้นำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ พบว่า ดินขาดธาตุอาหารโพแทส เซียม ก็จะใช้ปุ๋ยที่เพิ่มแค่ธาตุโพแทสเซียมอย่างเดียวไม่ต้องใส่ตัวอื่น ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมากและมีรายได้คงเหลือเป็นที่น่าพอใจ

“ผมมองว่าการทำเกษตรสีเขียวลดการพึ่งพาเคมีเป็นทางรอดของเกษตรกรอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่สุขภาพของเกษตรกรที่จะดีขึ้นเพราะไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำแล้ว ยังเป็นผลดีต่อผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งทุกวันนี้ข้าวที่ผลิตในพื้นที่ตำบลโตนดด้วนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคต่างถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะมีเกษตรกรที่ปลูกข้าวเหมือนกันแต่ยังใช้สารเคมี มาซื้อข้าวจากพวกเราไปกินเพราะเขาไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูกเพราะรู้ว่าไม่ปลอดภัย แต่เขากลับส่งข้าวพวกนี้ไปสู่ตลาดและผู้บริโภคแทน”

สุดท้าย นายสมบัติ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ...ผมเห็นว่าโครงการเมืองเกษตรสีเขียวเป็นโครงการที่ดีมากและจำเป็นต้องมีการขยายผลสู่พี่น้องเกษตรกรมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมก็จะได้ปลอดภัยด้วย...

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 25 มิถุนายน 2557