ฝ่าวิกฤติราคายางด้วย....อาชีพเสริม - เกษตรทั่วไทย

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

ฝ่าวิกฤติราคายางด้วย....อาชีพเสริม - เกษตรทั่วไทย

Post by brid.siriwan »

ฝ่าวิกฤติราคายางด้วย....อาชีพเสริม - เกษตรทั่วไทย

ถ้ามีสวนยางพารา 10 ไร่ ก็จะมีรายได้ ประมาณ 127,500 บาทต่อปีต่อครอบครัว เกษตรกรจะต้องถามตัวเองว่ารายได้เท่านี้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่?
แม้ราคายางพาราจะตกต่ำ จากราคายางแผ่นดิบที่เคยราคาสูงกว่า 140 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียงประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัมในขณะนี้ก็ตาม แต่ยางพาราก็ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยในปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกยางมากถึงประมาณ 22 ล้านไร่ และมีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน และถ้าคิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 4 คน เท่ากับมีประชากรที่เกี่ยวข้องกับยางพาราไม่น้อยกว่า 6.4 ล้านคน ยังไม่นับผู้รับจ้างกรีดยางอีกเป็นจำนวนไม่น้อย

สำหรับรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรชาว สวนยางนั้น คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้ประเมินเมื่อปี 2556 ซึ่งขณะนั้นราคายางประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม ไว้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มีรายได้ประมาณ 17,000 บาทต่อไร่ต่อปี โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรชาวสวนยางของไทย มีสวนยางพาราครอบครัวละประมาณ 10 ไร่ เท่ากับว่ามีรายได้ประมาณ 170,000 บาทต่อปีต่อครอบครัว แต่ปัจจุบันราคายางลดลงเหลือประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงเหลือประมาณ 12,750 บาทต่อไร่ ต่อปี

ถ้ามีสวนยางพารา 10 ไร่ ก็จะมีรายได้ ประมาณ 127,500 บาทต่อปีต่อครอบครัว เกษตรกรจะต้องถามตัวเองว่ารายได้เท่านี้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่?

แต่ถ้าไม่เพียงพอ หรือ ต้องการมีรายได้เพิ่ม หรือสวนยางยังไม่เปิดกรีด สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มีแนวทางที่จะช่วยเหลือ...

นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการ สกย. กล่าวว่า การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางนั้น นอกจากเกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้จากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตน้ำยางให้สูงขึ้นด้วยการเลือกใช้พันธุ์ยางพาราที่ให้ผลผลิตสูง ดูแลรักษาสวนยางพาราอย่างถูกต้องด้วยตนเอง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีในสัดส่วนที่เหมาะสม และกรีดยางให้ถูกต้องแล้ว การทำอาชีพเสริมโดยใช้สวนยางพาราให้ เกิดประโยชน์สูงสุด ก็สามารถเพิ่มรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างพอเพียงได้เช่นกัน เพราะการทำสวนยางนั้น จะมีเวลาเพียงพอที่สามารถไปประกอบอาชีพเสริม อื่น ๆ ได้ โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ กับอาชีพหลัก ทั้งนี้ที่ผ่านมา สกย. ได้สนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางให้ประกอบอาชีพเสริม จนประสบผลสำเร็จแล้วหลายราย อาทิ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง นายบุญลาภ เพ่งเมือง เกษตรกรชาวสวนยาง ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน ทำอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงแพะในสวนยางพารา มีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 50,000 บาท เช่นเดียวกันกับ นายเตี้ยน ศรีหนูสูต เกษตรกรชาวสวนยางบ้านทางเกวียน ต.โคกม่วง ประกอบอาชีพเสริม ด้วยการปลูกสละแซมในสวนยาง สร้างรายได้จากการขาย

สละถึงปีละไม่น้อยกว่า 100,000 บาท และ นายสหจร ชุมคช เกษตรกรชาวสวนยาง ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ ได้ปลูกขมิ้นแซมในสวนยางประมาณ 5 ไร่ ทำให้มีรายได้จากการขายขมิ้นประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้เกษตรกรชาวสวนยาง ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ยังสามารถรวมตัวกันประมาณ 35 คนตั้งเป็น กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จาก มูลไก่ มูลหมู มูลวัว ใช้เวลาเพียง 45 วันก็จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 7,000–8,000 กิโลกรัม หากนำไปขายทั้งหมดในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ก็จะได้เงินประมาณ 28,000–32,000 บาทต่อการทำปุ๋ยอินทรีย์ 1 ครั้ง ในส่วนของแม่บ้านก็ได้ตั้ง กลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา มีสมาชิกจำนวน 16 คน นำโดยนางเพียง เยาแสง ประธานกลุ่มฯ ได้ทำกล้วยทอดกรอบ ภายใต้ชื่อ “กล้วยไข่กรอบแก้ว เมืองลุง” สร้างรายได้มากกว่าเดือนละ 50,000 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การทำอาชีพเสริมจะประสบผลสำเร็จได้นั้น เกษตรกรจะต้องมีความขยัน อดทน และที่สำคัญจะต้องเกิดจากความต้องการของเกษตรกรจริง ๆ ว่า อยากมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่? ถ้าต้องการ สกย.ก็พร้อมให้การสนับสนุนในทุก ๆ ด้านที่สามารถทำ ได้ โดยล่าสุด สกย.ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินโครงการฝึกอบรมเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ว่างเปล่า ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักสูตร “อาชีพเสริมในสวนยาง” โดยรุ่นแรกเริ่มขึ้นแล้วระหว่าง 23-27 มิถุนายน

การดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อต้องการยกระดับรายได้ของเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ว่างเปล่า ในเขต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดสงขลา สตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานี) ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 64,000 บาทต่อปี เป็น 120,000 บาทต่อปี ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีรายได้ระหว่างที่ต้นยางยังไม่สามารถเปิดกรีดได้ สกย. จึงเห็นสมควรที่จะมีการอบรมเกษตรกรให้มีความรู้ในการทำอาชีพเสริมในสวนยางเพื่อเพิ่มรายได้ เมื่อสวนยางเปิดกรีดได้แล้ว ก็ยังจะช่วยเสริมให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงในการดำรงชีวิต แม้ราคายางยังไม่กระเตื้องขึ้นก็ตาม

“การอบรมอาชีพเสริมในสวนยางดังกล่าว หากประสบผลสำเร็จ สกย. มีแผนที่จะขยายผลจัดอบรมไปยังพื้นที่ปลูกยางพาราอื่น ๆ ทั้งในภาคใต้ ภาคตะวันออก และพื้นที่ปลูกยางใหม่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง และใช้ประโยชน์ จากสวนยางพาราได้เต็มศักยภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด” รักษาการผู้อำนวยการ สกย.กล่าวในตอนท้าย.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 24 มิถุนายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”