Page 1 of 1

แอลอีดี : ส่องแสงเสื้อผ้าเพิ่มราคาสิ่งทอ

Posted: 03 Jul 2014, 11:25
by brid.siriwan
แอลอีดี : ส่องแสงเสื้อผ้าเพิ่มราคาสิ่งทอ

จากนิยายของโหรใหญ่วิทยาศาสตร์ ไอแซค อสิมอฟ (Isaac Asimov) ที่พยากรณ์ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2507 (ค.ศ.1964) ในนิวยอร์คไทม์ว่า โดย 50 ปีหลังจากนั้นหรือช่วงปีพ.ศ.2557 ผนังเรืองแสงจะได้รับการใช้งานแพร่หลาย เพดานและกำแพงจะเปล่งแสงเรืองนวล “By 2014, electroluminescent panels will be in common use, and ceilings and walls will glow softly...”

จากเรื่องที่ประหลาดนี้จะมีใครคาดคิดว่า บนพื้นฐานเดียวกันกับเทคโนโลยีในปัจจุบันทั้งอุปกรณ์อัจฉริยะที่สวมใส่ได้ (wearable devices) ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า เสื้อผ้าแฟชันเรืองแสงบนเวทีเช่นของเลดี กาก้า (Lady Gaga) ชุดเครื่องแต่งตัวพิเศษเพื่องานกู้ภัยหรือด้านการแพทย์ ผ้าแพรสิ่งทอหรือผ้าม่านสำนักงานโรงหนังโรงละคร ที่ได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายร้อนๆนำแอลอีดีไปร่วมประยุกต์ใช้ด้วยนั้น ได้ทำให้ภาพล่วงหน้าของฝาผนังส่องสว่างที่“อสิมอฟ”คาดการณ์ไว้ กลายมาเป็นจริงในพ.ศ.นี้เข้าแล้ว

หากเกริ่นเพียงเท่านี้ อาจคิดไปได้ต่อว่าการนำแอลอีดีมาเพิ่มมูลค่าให้กับเสื้อผ้าแพรพรรณก็ทำกันได้แน่อยู่แล้ว เช่น แค่หาแอลอีดีขนาดเล็กมาต่อลวดวงจรนำไฟฟ้า ฝังแบตเตอรีจิ๋วไว้ตามมุมชายขอบหรือกระเป๋า แล้วก็ตบแต่งให้น้ำหนักเบาเล็กลงย่อส่วนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อาภรณ์ตัวเก่งก็จะเปล่งแสงแสดงความสว่างได้แล้ว … ทำเล่นเองเป็นกิจกรรมหรือกิจการขนาดย่อมก็น่าจะได้แต่ก็คงไม่สามารถตอบความต้องการโดยรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้วเป็นแน่ … แล้วเกิดอะไรกันขึ้นหรือ ?

ย้อนไปดูพัฒนาการที่ปรากฏสู่สาธารณะครั้งปีพ.ศ.2548 เมื่อเดือนกันยายนในงานแสดงสินค้าไอทีเก่าแก่ที่ต่อยอดมาจากด้านงานวิทยุและโทรทัศน์เยอรมัน (Internationale Funkausstellung (IFA) 2005) โดยฟิลลิปส์เจ้าเก่า (อีกแล้ว) ได้เปิดตัวต้นแบบพัฒนาการแอลอีดีประยุกต์ใช้กับเสื้อผ้า โดยให้ชื่อเรียกช่วงแรกนั้นว่า “สิ่งทอ-ผ้าส่องแสง (photonic textiles—fabrics)” พร้อมกับสร้างแรงกระเพื่อมของวงการด้วยแนวทางตลาดใหม่ที่น่าจะใหญ่เอาการ

ตามติดในปีถัดมา ณ กรุงเบอร์ลินกับงานแสดงสินค้าเดิม เสื้อแจกเก๊ตเปล่งแสงได้ของฟิลลิปส์ก็ออกมาอวดโฉม ซึ่งมิใช่นำแอลอีดีไปเย็บปักถักอยู่ในตัวเสื้อ หากเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นใหม่กับผ้าเรืองแสง (Lumalive fabric technology) ที่มีโครงสร้างแผงหรือใยถักแอลอีดีอันยืดหยุ่นและหลากหลายสีสันไปฝังตัวรวมกันอยู่ในตัวผ้านั้นเลย...ฝันของ “อสิมอฟ”จึงอยู่ไม่ไกลแล้ว

คงมีคำถามตามมาแน่ว่า อ้าว... แอลอีดีแม้จะใช้ไฟฟ้าระดับต่ำมากจากแบตเตอรีนาฬิกา แต่หากโดนเหงื่อ สาดน้ำหรือนำไปซักก็จะช๊อตแล้วจะเหลือสภาพเครื่องนุ่งห่มหรือ ?

คงไม่เป็นเช่นนั้นแน่ องค์ประกอบสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้เป็นมิตรกันตั้งแต่การถักทออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผสมกับความเชี่ยวชาญของงานด้านเสื้อผ้าจึงแก้ครบปัญหา และได้มาเปิดประตูอุตสาหกรรมช่องทางใหญ่แล้วในพ.ศ.2557นี้ เทคโนโลยีที่ว่าก็มิใช่การบัดกรีติดตะกั่วแปะแอลอีดีเข้ากับลายทองแดงของแผงวงจรแล้วต่อเข้ากับถ่านกำลังไฟต่ำขนาดเท่ากระดุมเป็นแน่ แต่ได้กลายเป็นนิยามวิธีการใหม่ และเกิดศัพท์แสงใหม่ๆ ตามมาด้วยทั้ง สิ่งทออิเล็กทรอนิส์ (E-textiles/ Textile integrated electronics) ผ้าแอลอีดี (LED Fabric) ผ้าฉลาด (Smart Fabric) การถักทออิเล็กทรอนิกส์ (E-broidery) เป็นต้น แอลอีดีร่วมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้สารตะกั่วจึงได้เข้าล๊อกฝังตัวปักเรียงโยงใยอยู่ในเนื้อผ้า และนำไฟฟ้าได้ในหลายส่วน พร้อมเรืองแสงป้อนให้งานแฟชัน การแพทย์ มัณฑนศิลป์รูปแบบใหม่เพื่อที่อยู่อาศัย สำนักงานและวงการบันเทิงแล้ว

ทั่วโลกไม่เพียงแค่ของฟิลลิปส์ ทีมของเยอรมนี (Fraunhofer) ก็พัฒนาตามมาติดๆ หลายประเทศก็เริ่มถักสานอุตสาหกรรมประยุกต์เสื้อผ้าเปล่งแสงหลายแบบทั้งซักได้ สู่การพลิ้วไหวของม่านและเพดานแสงเพื่อออกขายกัน...แล้วเราพร้อม (ซืิ้อ) หรือยัง ?

ส่วนสถานภาพของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยทำรายได้จากการส่งออกที่วิ่งไปเกินระดับ 2แสนล้านบาทในปีพ.ศ.2556 และมีกระบวนการผลิตพร้อมตั้งแต่ทำเส้นใยประดิษฐ์ ปั่นด้าย ถักทอผ้า ฟอก ย้อมหรือพิมพ์และแต่งสำเร็จ โดยมีการจ้างงานสูงถึงนับล้านคน … จะมาปรับใช้งานแอลอีดีนี้ไปร่วมด้วยแค่ไหน ก็ยังต้องว่ากันต่ออีกยาว...

ตลาดสิ่งทอมุมนี้มิใช่แค่ไฟแอลอีดีกระพริบได้ในรองเท้าเด็กเมื่อเดินยำ่เท่านั้นแล้ว...เป็นย่างก้าวใหม่ที่สว่างไสวและยาวไกล !

เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

"แสง-ควอนตัม-สื่อสาร-แอลอีดี"

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 2 กรกฎาคม 2557