Page 1 of 1

นักวิทย์ยัน ทิชชู ซับน้ำมันอาหาร ไม่เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง

Posted: 04 Jul 2014, 13:54
by brid.siriwan
นักวิทย์ยัน ทิชชู ซับน้ำมันอาหาร ไม่เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นักวิทย์ฯ ยัน “ทิชชู” ซับน้ำมันอาหารไม่เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง เหตุการฟอกเยื่อกระดาษในไทยส่วนใหญ่ไม่มีการใช้คลอรีน ซึ่งก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งในการฟอกแล้ว ส่วนการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ฟอกเยื่อกระดาษให้ขาวมีกระบวนการล้างหลายขั้นตอน การปนเปื้อนจึงน้อยมาก แนะใช้ทิชชูให้ถูกวัตถุประสงค์ ไม่ควรนำไปซับน้ำมัน แต่หากใช้ซับก็ไม่มีสารก่อมะเร็งหลุดออกมา

จากกรณีกรมอนามัยเตือนเรื่องการใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร มีความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็ง ล่าสุด ดร.ภูวดี ตู้จินดา กลุ่มเยื่อและกระดาษ โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เขียนบทความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Ice Tuchinda” ต่อกรณีดังกล่าว มีใจความโดยสรุปว่า การใช้ทิชชูควรใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ คือ ใช้ภายนอก ไม่สมควรนำมารับประทาน สำหรับการซับน้ำมันแนะนำว่าไม่ควรนำทิชชูมาใช้ อย่างไรก็ตาม แม้จะนำมาซับก็ไม่มีสารก่อมะเร็ง หรือสารไดออกซินหลุดออกมา หรือมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ออกมาทำลายเนื้อเยื่อตามข่าว เนื่องจากการฟอกเยื่อกระดาษในประเทศไทย ไม่มีการใช้สารคลอรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว มีเพียงโรงงานฟอกเยื่อกระดาษเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังใช้อยู่ โรงงานที่เหลือใช้เพียงสารประกอบคลอรีน หรือคลอรีนไดออกไซด์ในการฟอกเยื่อกระดาษเท่านั้น ซึ่งกระบวนการฟอกแม้จะก่อให้เกิดพิษคือ Ordanically bound chlorine หรือ ที่รู้จักกันในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษว่า AOX แต่ไม่เกิดไดออกซินในกระบวนการฟอกเยื่อ

ทั้งนี้ ตนเคยทำโครงการวิจัยและมีข้อมูล AOX ตกค้างในเยื่อและกระดาษมีตัวเลขจากการวิจัยยืนยันว่าในกระดาษทิชชูนั้น มีประมาณ AOX ตกค้างน้อยมาก ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณไดออกซินยิ่งน้อยลงไปอีก นอกจากนี้ สารไดออกซินและ AOX ไม่ได้หลุดออกจากกระดาษทิชชูได้ง่ายๆ การสกัดเพื่อการวิเคราะห์ยังต้องสกัดด้วยระยะเวลาที่ยาวนานและที่อุณหภูมิสูงมาก แค่เอากระดาษทิชชูมาซับๆ สารเหล่านี้จึงไม่หลุดตามออกมา

นักวิทย์ยัน ทิชชู ซับน้ำมันอาหาร ไม่เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง
สำหรับการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ NaOH ในขั้นตอนการฟอกเยื่อขาว แต่กรรมวิธีการผลิตเยื่อกระดาษนั้นมีหลายขั้นตอนและใช้น้ำปริมาณมากในการล้างสารต่างๆ ดังนั้น จึงไม่มีโซเดียมไฮดรอกไซด์บริสุทธิ์ตกค้างในปริมาณที่จะก่อให้เกิดอันตราย

อ่านบทความฉบบเต็ม ดร.ภูวดี ตู้จินดา

จากที่มีข่าวเตือนเรื่องการใช้ทิชชูซับน้ำมันอาหารนั้นเสี่ยงต่อการรับสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งนั้นขออนุญาตแจ้งข้อเท็จจริงดังนี้

1. การฟอกเยื้อขาวมที่กระทำให้เกิดสารไดออกซินนั้นจะเป็นการฟอกเยื่อด้วยสารคลอรีน หรือ Cl2 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงฟอกเยื่อที่ใช้วิธีการฟอกแบบนี้เพียง 1 โรงเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศทางทวีปยุโรปหรือทวีปอเมริกาได้มีการห้ามใช้วิธีการฟอกเยื่อแบบนี้มาหลายปีแล้ว

2. การฟอกเยื่อขาวปัจจุบันส่วนใหญ่ในประเทศไทย ใช้สารประกอบคลอรีน คือ คลอรีนไดออกไซด์ (ClO2) ซึ่งการฟอกเยื่อด้วยกาประกอบคลอรีนทำให้เกิดสารพิษ คือ Ordanically bound chlorine หรือ ที่รู้จักกันในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษว่า AOX แต่ไม่เกิดไดออกซินในกระบวนการฟอกเยื่อ

3. ปริมาณไดออกซินแปรผันตรงกับปริมาณ AOX ซึ่งตนเคยทำโครงการวิจัยและมีข้อมูล AOX ตกค้างในเยื่อและกระดาษมีตัวเลขจากการวิจัยยืนยันว่าในกระดาษทิชชูนั้น มีประมาณ AOX ตกค้างน้อยมากซึ่งแน่นอนว่าปริมาณไดออกซินยิ่งน้อยลงไปอีก ทั้งนี้ ไม่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถวิเคราะห์ปริมาณไดออกซินในประเทศไทย ใกล้ที่สุดจะส่งไปวิเคราะห์ได้ที่ประเทศสิงคโปร์ การใช้ปริมาณ AOX เป็นตัวอ้างอิงถึงปริมาณไดออกซิน (หากมี) จึงเป็นที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง

4. สารไดออกซิน และ AOX ไม่ได้หลุดออกจากกระดาษทิชชูได้ง่ายๆ การสกัดเพื่อการวิเคราะห์ยังต้องสกัดด้วยระยะเวลาที่ยาวนานและที่อุณหภูมิสูงมาก (กรณีไดออกซิน) แค่เอากระดาษทิชชูมาซับๆ สารเหล่านี้ไม่หลุดตามออกมา

5. มีการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ NaOH ในขั้นตอนการฟอกเยื่อขาวแต่กรรมวิธีการผลิตเยื่อกระดาษนั้นมีหลายขั้นตอนและใช้น้ำปริมาณมากในการล้างสารต่างๆ ดังนั้น จึงไม่มีโซเดียมไฮดรอกไซด์บริสุทธิ์ตกค้างในปริมาณที่จะก่อให้เกิดอันตราย

ทั้งนี้ สารพิษที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นไดออกซิน หรือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ ไม่ได้เกิดขึ้นหรือถูกใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษแต่ถูกใช้ในกระบวนการฟอกเยื่อ ซึ่งเยื่อกระดาษผลิตจากไม้ โดยไม้มีสารยึดเกาะเรียกว่า ลิกนิน ซึ่งเป็นสารสีน้ำตาลกระบวนการฟอกเยื่อ คือ การกำจัดสารลิกนิน เพื่อให้เยื่อกระดาษมีความขาวก่อนที่จะนำไปใช้ผลิตภัณฑ์กระดาษอื่นๆ ทั้งกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษอนามัย หรือ ทิชชู ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นทิชชูเกรดไหนก็ใช้วัตถุดิบเดียวกัน คือ เยื่อกระดาษ ส่วนทิชชูรีไซเคิลก็มีวัตถุดิบเป็นกระดาษที่เคยใช้แล้ว เช่น หนังสือพิมพ์ กระดาษพิมพ์เขียน นำมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมและนำเยื่อกระดาษเวียนไปใช้ใหม่ซึ่งกระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับโรงงานว่าทำอย่างละเอียดและมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน กระบวนการฟอกเยื่อมีหลายขั้นตอน โดยโรงงานแต่ละแห่งจะใช้ขั้นตอนแตกต่างกันแต่โดยรวมแล้วจะมีขั้นตอนการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งหลังจากเกิดปฏิกิริยาเคมีกับลิกนิน จนแปลงร่างแล้วยังมีขั้นตอนการล้างเยื่ออีกมากมาย ดังนั้น การจะมีโซเดียมไฮดรอกไซด์บริสุทธิ์ถึงขนาดก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในเยื่อกระดาษว่าน้อยแล้วกว่าจะเป็นกระดาษอนามัยยิ่งน้อยลง

นอกจากนี้ สารฟอกเยื่อที่ใช้กำจัดลิกนิน ที่เป็นที่นิยมอีกตัวก็คือ คลอรีนและสารประกอบคลอรีน หรือ คลอรีนไดออกไซด์ ซึ่งการใช้คลอรีนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการฟอกเยื่อนั้นทำให้เกิดไดออกซินแน่นอน แต่เพราะมีเหตุว่าเกิดไดออกซินจึงมีการห้ามใช้คลอรีนในการฟอกเยื่อในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยโรงฟอกเยื่อก็ปรับเปลี่ยนกระบวนการนี้ออกจนเกือบหมดแล้ว เหลือเพียง 1 โรงเท่านั้น สารที่ทำมาใช้แทนคลอรีนแทนการฟอกเยื่อ คือ สารประกอบคลอรีน ซึ่งโรงงานฟอกเยื่อเกือบทั้งหมดในไทยก็ใช้สารตัวนี้ ซึ่งการฟอกเยื่อด้วยสารประกอบคลอรีนทำให้เกิดสารพิษ AOX แต่ไม่เกิดไดออกซิน จึงอยากให้พิจารณากันว่าเมื่อเยื่อกระดาษซึ่งเป็นวัตถุดิบไม่มีโซเดียมไฮดรอกไซด์และแทบไม่มีไดออกซิน ตัวผลิตภัณฑ์กระดาษจะมีได้อย่างไร

สรุปว่า ทิชชูควรใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ในการผลิต คือ ใช้ภายนอก ส่วนการซับน้ำมันถามว่าถูกวัตถุประสงค์ของการใช้หรือไม่ ขอตอบว่า ไม่ใช่ แต่ถ้าถามว่าเอาทิชชูไปซับน้ำมันแล้วจะมีสารไดออกซินหลุดออกมา หรือมีโซเดียมไฮดรอกไซด์มาทำลายเนื้อเยื่อ ก็คงไม่ใช่

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 3 กรกฎาคม 2557