คืนหอยชักตีนสู่ธรรมชาติอ่าวกระบี่ - ทิศทางเกษตร

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

คืนหอยชักตีนสู่ธรรมชาติอ่าวกระบี่ - ทิศทางเกษตร

Post by brid.siriwan »

คืนหอยชักตีนสู่ธรรมชาติอ่าวกระบี่ - ทิศทางเกษตร

หอยชักตีนเป็นหอยทะเลชนิดหนึ่ง ที่กินสาหร่ายและซากอินทรีย์สารต่าง ๆ เป็นอาหารในธรรมชาติ หอยชักตีนจะอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีพื้นทะเลเป็นดินทรายปนโคลนระยะห่างจากฝั่งประมาณ 50-1,000 เมตร

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดกระบี่ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) โดยโรงไฟฟ้ากระบี่ และชุมชนตำบลเกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ร่วมกันจัดกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและประมงชายฝั่ง ในโครงการอนุรักษ์ปล่อยลูกพันธุ์หอยชักตีน ณ บ้านเกาะปู หมู่ที่ 2 ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ขึ้นเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

หอยชักตีนเป็นหอยทะเลชนิดหนึ่ง ที่กินสาหร่ายและซากอินทรีย์สารต่าง ๆ เป็นอาหารในธรรมชาติ หอยชักตีนจะอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีพื้นทะเลเป็นดินทรายปนโคลนระยะห่างจากฝั่งประมาณ 50-1,000 เมตร พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณที่มีหญ้าทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ที่ผ่านมาคนไทยจะบริโภคหอยชักตีนที่เก็บขึ้นมาจากทะเลและจากรสชาติที่ถูกปากคนไทย หอยชักตีนจึงขยายพันธุ์เพื่อสนองตอบตามธรรมชาติไม่ทัน และมีแนวโน้มที่จะหมดไปจากทะเลไทย

ในที่สุดนักวิชาการไทยด้านการประมงก็สามารถขยายพันธุ์หอยชักตีนเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติสำเร็จ แต่ก็ต้องอาศัยทุนในการดำเนินการมากพอควรต่อการเพาะขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะในการอนุรักษ์และรักษาเพื่อให้หอยได้เจริญเติบโตตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ก่อนถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของคนเรา ซึ่งก็นับว่าโชคดีที่ยังมีหน่วยงานทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและทางอ้อมได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยโรงไฟฟ้ากระบี่ องค์การบริหารจังหวัดกระบี่ และประชาชนในชุมชนริมทะเลของจังหวัดกระบี่ อาทิ ประชาชนตำบลเกาะศรีบอยา เกาะปอและเกาะจำ รวมไปถึงชมรมคนรักเล ที่ต่างได้ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเพาะขยายพันธุ์หอยชักตีนเพื่อปล่อยนคืนสู่ท้องทะเลไทย ควบคู่กับการรณรงค์ ให้มีการอนุรักษ์หอยชักตีน โดยการนำเอาหอยที่มีขนาดโตแล้วเท่านั้นมาบริโภค เพื่อให้วงจรหอยได้มีการพัฒนาในแหล่งน้ำทะเลตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป

ในการเพาะพันธุ์หอยชักตีนนั้นจะเริ่มต้นด้วยการนำพ่อแม่พันธุ์หอยชักตีนที่รวบรวมได้จากธรรมชาติ มาเลี้ยงไว้ในถังไฟเบอร์กลาส ขนาด 1 ตัน ดูดตะกอน เปลี่ยนน้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันกระตุ้นให้หอยผสมพันธุ์วางไข่ โดยวิธีการปล่อยน้ำออกจากบ่อพ่อแม่พันธุ์ให้แห้ง แล้วเติมน้ำทะเลใหม่ลงไปหลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน หอยจะผสมพันธุ์วางไข่ ซึ่งหอยจะวางไข่ตอนกลางคืนจนถึงเช้าตรู่ เมื่อลูกหอยฟักเป็นตัวแล้วก็นำมาอนุบาลจนลูกหอยเริ่มลงเกาะพื้น จึงนำออกปล่อยคืนสู่ทะเลให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติต่อไป

ที่ชุมชนบ้านหลังเกาะ ตำบลเกาะศรี บอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ จะเป็นแหล่งที่มีหอยชักตีนชุกชุมด้วยพื้นที่รอบเกาะเป็นดินทรายปนโคลน เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของอาหารหอยชักตีน พื้นที่บนเกาะส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำเกษตรกรที่นี่จึงออกไปหาหอยชักตีนขายเพื่อยังชีพ และจะจับหอยที่มีขนาด 40-50 ตัวต่อกิโลกรัม โดยมีผู้ซื้อมารับซื้อถึงชุมชนในราคากิโลกรัมละไม่น้อยกว่า 70 บาท ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ที่นับว่าดีไม่น้อย

ที่สำคัญในการร่วมกันรณรงค์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของพื้นที่ครั้งนี้นับว่า ได้ประโยชน์ถึงสองทางด้วยกันคือ เป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเลให้ได้คงอยู่คู่ทะเลไทยต่อไป และเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำทะเลที่เป็นอาหารของคนเราให้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งยังมาซึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ของประชาชนบริเวณชายฝั่งอีกด้วย.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 5 กรกฎาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”