เปิดภาพรวม ศก.โตแสนล้านบาทจากการประมูลความถี่ 2.1 GHz กสทช.

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

เปิดภาพรวม ศก.โตแสนล้านบาทจากการประมูลความถี่ 2.1 GHz กสทช.

Post by brid.siriwan »

เปิดภาพรวม ศก.โตแสนล้านบาทจากการประมูลความถี่ 2.1 GHz กสทช.


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
กสทช.เตรียมถก คสช.ในวันที่ 2 ก.ค.หวังปลดล็อกการประมูลความถี่ 1800 กับ 900 MHz และโครงการ USO เตรียมข้อมูลเปรียบเทียบผลดีจากการเปิดประมูลความถี่ 2.1 GHz ที่ผ่านมา ทำภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตกว่าแสนล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในวันพุธที่ 2 ก.ค.2557 สำนักงาน กสทช.จะเข้าหารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรายงานเหตุผลความจำเป็นเกี่ยวกับการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz กับ 900 MHz และโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) หลังจาก คสช. ได้มีคำสั่งให้ชะลอการประมูลออกไป โดยสำนักงาน กสทช.จะเข้าไปชี้แจงรายละเอียดทุกอย่างเพื่อหวังให้ คสช.อนุญาตให้ดำเนินโครงการต่อไปได้เช่นเดียวกับอนุญาตให้ กสทช.ดำเนินการแจกคูปองตามโครงการสนับสนุนประชาชน ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลไปแล้ว

ทั้งนี้ รายละเอียดหนังสือที่จะชี้แจง คสช.นั้น จะยกตัวอย่างเปรียบเทียบข้อดี จากผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับหลังจากประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ว่า หากมีการเปิดประมูลคลื่น 1800 MHzจำนวน 2 ใบอนุญาต ตามแผนเดิมภายในเดือน ส.ค.นี้ ราคาตั้งต้นประมูลใบอนุญาตละ 11,600 ล้านบาท และการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ราคาตั้งต้นประมูล 8,445 ล้านบาท จำนวนความถี่ 7.5 MHz 1ใบอนุญาต และราคาตั้งต้นประมูล 11,260 ล้านบาทจำนวนความถี่ 10 MHz 1 ใบอนุญาตนั้นแล้ว ประเทศจะได้รับประโยชน์อื่นๆ นอกจากรายรับจากการประมูลใบอนุญาต ยังมีผลต่อเนื่องจากการลงทุนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมมูลค่าตลาดรวมของเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพราะจากผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับจากการเปิดประมูลความถี่ย่าน 2.1 GHz ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในช่วงที่ผ่านมาและการดำเนินโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม หรือ USO ซึ่งได้ทำโครงการขยายโครงข่ายบริการโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก และหนองคาย และจะดำเนินการในจังหวัดที่เหลือต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดให้มีโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม ภายในระยะเวลา 5 ปี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรคมนาคม และสารสนเทศอย่างทั่วถึง

ซึ่งผลงานเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย ภายหลังจากการให้บริการเครือข่าย 3G บนความถี่ย่าน 2.1 GHz เพียงไม่นานพบว่า เมื่อสิ้นปี 2556 มีจำนวนผู้ใช้บริการบนเครือข่ายใหม่ ไปแล้วจำนวน 25.6 ล้านเลขหมาย หรือประมาณ 25% ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย และ Frost & Sullivan ได้วิเคราะห์ถึงมูลค่าเพิ่มของธุรกิจโทรคมนาคมและเศรษฐกิจไทย จากการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือบนความถี่ย่าน 2.1 GHz ในช่วงปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้

***ประมูล 2.1 GHz กระตุ้นเศรษฐกิจแสนล้าน

ผลทางตรง 1.มีเงินเข้ารัฐ 4.1 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz นำส่งเป็นค่าทรัพยากรสาธารณะให้แก่กระทรวงการคลัง และถือเป็นรายได้เข้าประเทศ 2. มีเงิน 3 พันล้านบาทต่อปี เป็นค่าธรรมเนียมในการกำกับดูแล (regulatory fees) ของผู้ประกอบการบนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz

ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อมนั้น 1.การลงทุนรวมในอุปกรณ์โครงข่าย เช่น core network และสายเคเบิลในช่วง 3-5 ปีแรก ภายหลังการประมูลประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี 2.มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2557 ซึ่งเติบโตปีละ 30% จากช่วงก่อนการประมูล 3G ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท 3.มูลค่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2557 ซึ่งเติบโต 26% จากปีก่อนหน้า ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท 4.มูลค่าการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile Banking เช่น การโอนเงิน และการชำระค่าบริการต่างๆ ประมาณ 7 แสนล้านบาท

5.มูลค่าตลาดของ Internet Data Center ในปี 2557 ซึ่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% เมื่อเทียบจากปี 2012 ด้วยดีมานด์จากลูกค้าองค์กรเมื่อการดึงข้อมูลทำได้เร็วขึ้นจาก 3G ประมาณ 2 พันล้านบาท 6.เม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ซึ่งดึงดูดให้เกิดการสร้างแอปพลิเคชัน และคอนเทนต์บนมือถือในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ประมาณ 1 พันล้านบาท 7.ในปี 2557 กลุ่มธุรกิจต่างๆ จะมีการใช้สื่อดิจิตอลในการโฆษณามากขึ้น โดยมีมูลค่าประมาณเพิ่มจากปี 2556 ประมาณ 38% หรือ 5.8 พันล้านบาท

นอกจากการเติบโตทางภาคธุรกิจดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจกระทบต่อเนื่องกันไป ดังนั้น การใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่แสดงจากอัตราการเข้าถึงบริการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในอนาคต

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากิจการโทรคมนาคมสามารถผลักดัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในหลายทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือ ที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ ยิ่งเป็นข้อสนับสนุน และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการโทรคมนาคมกลายเป็นบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ การเติบโตดังกล่าวยังช่วยส่งเสริม และพัฒนาแนวทางการศึกษาพื้นฐานของประเทศ ช่วยลดช่องว่างทางสังคม โดยโครงการ USO ที่แล้วเสร็จใน 2 จังหวัดนำร่องดังกล่าว จะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ในพื้นที่ห่างไกล และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารจะช่วยผลักดันมิติแห่งการเรียนรู้ให้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาในสังคม อันจะส่งผลถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของประเทศไทยด้วย


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 2 กรกฎาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”