ONE's View : มองเศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกกลับมาขยายตัว หลังชะลอลงใ

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

ONE's View : มองเศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกกลับมาขยายตัว หลังชะลอลงใ

Post by brid.siriwan »

ONE's View : มองเศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกกลับมาขยายตัว หลังชะลอลงในครึ่งแรกของปี 2557


คอลัมน์ ONE's View
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันได้ปรับตัวลดลงกว่า -5.78% สวนทางกับปีก่อนหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่นักลงทุนส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไรนั้น ผมขอ Update ดังนี้ ครับ

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2557 ยังสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์จากการเร่งใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินทรัพย์ถาวรและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเร่งลงทุนในภาคธุรกิจ ขณะที่ไตรมาสที่ 2/2557 ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจอาจชะลอลงเล็กน้อยจากการเร่งใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนในช่วงก่อนหน้าจากผลของทางการญี่ปุ่นที่มีมติเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิม 5% เป็น 8% โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 57 ทำให้มีการเร่งใช้จ่ายค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เปิดเผยผลสำรวจรายไตรมาส หรือที่เรียกกันว่า Tankan (ทังกัน) พบว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ผลิตอยู่ที่ระดับ +15 ซึ่งปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับลดลงจากการเพิ่ม VAT ในวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

แต่อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขโดยรวมของความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ผลิตญี่ปุ่นจะปรับลดลง แต่หากมองจากภาคใหญ่เชิงมหภาคและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีโอกาสเติบโตต่อไปได้จาก

1) แผนการของทางการญี่ปุ่นที่จะมีมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านลูกศรดอกที่ 3 โดยเฉพาะมาตรการการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงจากเดิม 36% ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีการประกาศใช้เดือน ต.ค. 57 เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับลดลงมาที่ระดับเท่าใด แต่ก็คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่อยู่ประมาณ 25-30%

2) การเร่งผลักดันให้กองทุนบำนาญของญี่ปุ่นให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น

3) การเร่งสร้างแรงงานให้มีความชำนาญและการจ้างแรงงานที่มีความชำนาญจากต่างชาติ เพื่อผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากการเร่งเจรจาด้านการเปิดเสรีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ที่เรียกกันในนาม TPP ซึ่งคาดว่าน่าจะทยอยเห็นข้อสรุปในช่วงปลายปีนี้

4) การสร้างเขตการค้าเสรีพิเศษในเมืองต่างๆ เช่น โตเกียว คันไซ ฟุกุโอกะ ประกอบกับแผนการเพิ่มการใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 7.4% ในปีงบประมาณปัจจุบันที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2015 ซึ่งนับได้ว่าสูงกว่าที่คาดไว้เบื้องต้น อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจพื้นฐานของญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้นตัวได้ดี เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อ และอัตราการจ้างงาน ที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มองว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปได้ในไตรมาสที่ 2/2557 และเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นในไตรมาสที่ 3/2557 เป็นต้นไป และจะผลักดันให้รายได้ของบริษัทจดทะเบียนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตตามสอดคล้องด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของผู้ผลิตรายใหญ่ที่คาดว่าภาวะธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงถัดไปโดยเฉพาะผู้ผลิตกลุ่มการผลิต อย่างเช่น สินค้าโลหะ การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และการผลิตยานยนต์ เช่นกัน

สำหรับมุมมองด้านค่าเงินเยน จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มทยอยฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3/2557 เป็นต้นไป ประกอบกับเครื่องมือทางการเงินของทางการญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม ก็น่าจะหนุนให้ค่าเงินเยนมีโอกาสอ่อนค่าลงแตะระดับ 103-110 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งหากค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเป็นไปตามที่คาดจะผลักดันให้ดัชนี NIKKEI225 ปรับตัวดีขึ้น โดยผมมองว่าหุ้นได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายด้านทุนดังกล่าว และค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ได้แก่ หุ้นกลุ่มการส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องด้วยเช่นกัน

สำหรับกองทุนเปิด วรรณ เจแปน ฟันด์ (ONE-JAPAN) ในช่วงที่ผ่านมากระจายการลงทุนส่วนใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าทุน และหน่วยลงทุน ETF ซึ่งค่อนข้างได้รับแรงกดดันจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางการลงทุนและแนวโน้มค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงดังกล่าว ประกอบกับหุ้นกลุ่มดังล่าวได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ตามอานิสงส์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ บลจ.วรรณมีมุมมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีความน่าสนใจในการทยอยเข้าลงทุนและมีโอกาสสร้าง Upside gain ต่อไปได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวตามลำดับ ซึ่งหากนักลงทุนสนใจการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นของ บลจ.วรรณ สามารถติดต่อสอบถามและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายการตลาด บลจ.วรรณ ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนครับ

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 4 กรกฎาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”