Page 1 of 1

ยางอัดก้อน’ ของชุมนุมสหกรณ์ ‘ตรัง’ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่ม

Posted: 07 Jul 2014, 09:44
by brid.siriwan
‘ยางอัดก้อน’ ของชุมนุมสหกรณ์ ‘ตรัง’ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างยั่งยืน - เกษตรทั่วไทย

สำหรับการบริหารโดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ได้ประกาศนโยบายภาคการเกษตรเพื่อเร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรในทุกกลุ่ม บรรเทาผลกระทบทั้งด้านต้นทุนการเพาะปลูก

ยางพารา ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเฉลี่ยมีการส่งออกปีละไม่น้อยกว่า 3 ล้านตัน ด้วยพื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้นกว่า 18 ล้านไร่ โดยมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ถึงแม้ปัจจุบันจะขยายพื้นที่ปลูกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้วก็ตาม แต่ปัญหาสำคัญของ “ยางพารา” ที่เกษตรกรยังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ “ราคายางตกต่ำ” โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อพยุงราคายางพาราไม่ให้ตกต่ำ

สำหรับการบริหารโดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ได้ประกาศนโยบายภาคการเกษตรเพื่อเร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรในทุกกลุ่ม บรรเทาผลกระทบทั้งด้านต้นทุนการเพาะปลูก และการบริหารจัดการผลผลิต สำหรับยางพาราเบื้องต้นได้อนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือซึ่งตกค้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 จนถึงปัจจุบันให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ 63 จังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นเงินงบประมาณ กว่า 6,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในภาคการเกษตร ยังมีนโยบายชัดเจน ด้วยการใช้กลไกตลาดปกติผ่านระบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์กลางรับซื้อผลผลิต และโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะพิจารณาแนวทางยั่งยืนที่ไม่บิดเบือนกลไกตลาด เช่น การช่วยเหลือเรื่องลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมเทคโนโลยี ส่งเสริมตลาดด้านการบริหารจัดการ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะเรื่องตามความเหมาะสม เป็นต้น

ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด เป็นตัวอย่างสหกรณ์ที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควันสู่ “ยางอัดก้อน” มาตรฐานจีเอ็มพี (Good Manufacturing Practice : GMP) โดยผ่านการรับรองจากสถาบัน วิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร รวมทั้งยังได้มาตรฐาน ISO 9001 : 2008 ทำให้สามารถยกระดับคุณภาพของสินค้าสู่ความเชื่อมั่นของตลาดการส่งออกยางได้เป็นผลสำเร็จ

นายอุทัย ศรี เทพ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์การดำเนินธุรกิจยางแผ่นรมควัน โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก สิ่งสำคัญที่สุดคือ มาตรฐานในการรับรองคุณภาพ เมื่อผลิตยางแผ่นรมควันได้ระยะหนึ่งประสบปัญหาราคายางแผ่นรมควันตกต่ำ จึงได้เปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็น “ยางอัดก้อน” โดยมีสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้พร้อมการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี ทั้งด้านโรงงานผลิตและยางอัดก้อน

หลังจากนั้นจึงเริ่มเรียนรู้เรื่องการส่งออกยางไปพร้อมกับการขอรับรองมาตรฐานด้านบริหารคุณภาพ หรือ ISO 9001 : 2008 เพื่อยกระดับคุณภาพสู่ความเชื่อมั่นในการส่งออกมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งเริ่มส่งออกยางได้เมื่อปลายปี พ.ศ.2556 โดยมี “จีน” เป็นคู่ค้าหลักที่สำคัญ รวมทั้งยังมีการส่งออกยางโดยผ่านทางบริษัทส่งออกด้วย โดยล่าสุดมียอดการส่งออกยางทั้งสิ้น 2,399 ตัน ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จที่น่าพอใจ

นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ที่ตั้งไว้คือ จะผลิต “ยางก้อนคุณภาพดีที่สุดในโลก” โดยมาถึงขณะนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ แต่ชุมนุมสหกรณ์ยังคงเน้นกลยุทธ์ด้านการพัฒนา “คุณภาพ” สินค้า และบริหารจัดการ “ต้นทุนผลิต” ให้ต่ำที่สุดเพื่อสามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้

นายอุทัย กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพทางการผลิต การเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และการสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตที่ช่วยให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ ไม่เฉพาะนโยบายช่วงการบริหารของคสช.เท่านั้น แต่ยังจำเป็นที่ทุกรัฐบาลต้องดำเนินการต่อไป เพราะจะเป็นการเพิ่มผลผลิตโดยรวมของประเทศให้สูงขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตสูงขึ้น หรือการเข้าถึงเทคโนโลยี/เครื่องจักรกลการเกษตร ที่ช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น

“สิ่งที่ต้องการในขณะนี้ คือ อยากให้มีการสนับสนุนการวิจัยเรื่องยางพาราให้มากขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่พันธุ์ที่ใช้ปลูกไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง การพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี/เครื่องจักรกลต่าง ๆ ที่สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้ เพราะปัจจุบันต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำอย่างไรให้คนไทยเป็นเจ้าของตั้งแต่ “น้ำยาง” จนไปถึง “ยางรถยนต์” ที่สามารถผลิตและขายได้เอง เพิ่มช่องทางการตลาดแทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบอย่างเดียว รวมถึงต่อไปหากต้องการเป็นผู้นำของอาเซียนโดยเราต้องสร้างความครบวงจรในเรื่องการผลิตยางให้เกิดขึ้นมาก่อน” นายอุทัย กล่าว

ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของชุมนุมสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจยางอัดก้อนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรได้เรียนรู้และเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เพราะด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับโลก จึงทำให้ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง สามารถก้าวไปสู่ผู้ส่งออกยางอัดก้อนคุณภาพได้นั่นเอง.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 7 กรกฎาคม 2557