กูเกิลกับแทงโก้ - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

กูเกิลกับแทงโก้ - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Post by brid.siriwan »

กูเกิลกับแทงโก้ - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

ถ้าพูดถึงสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์พกพาสมัยใหม่เดี๋ยวนี้ นอกจากจะนึกถึงอุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารได้ มีลูกเล่นต่าง ๆ ไม่แพ้คอมพิวเตอร์ แถมยังขนาดเล็กพกพาสะดวกกว่าด้วยแล้ว

ถ้าพูดถึงสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์พกพาสมัยใหม่เดี๋ยวนี้ นอกจากจะนึกถึงอุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารได้ มีลูกเล่นต่าง ๆ ไม่แพ้คอมพิวเตอร์ แถมยังขนาดเล็กพกพาสะดวกกว่าด้วยแล้ว อีกหนึ่งลูกเล่นที่เหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้วสำหรับอุปกรณ์สมัยใหม่ก็คือกล้องนั่นเองครับ ไหนจะต้องใช้เพื่อคุยเฟสไทม์วิดีโอคอล ใช้ถ่ายรูปอัพลงอินสตาแกรม แชร์ลงเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ใช้ส่อง QR Code ดูข้อมูลต่าง ๆ เรียกว่าไม่ใช่แค่อุปกรณ์เสริมเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวแล้วนะครับ

วันนี้ผมจะมาพูดถึงเทคโนโลยีกล้องในอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ แต่ที่ผมจะมาคุยกับคุณผู้อ่านไม่ใช่เรื่องว่ากล้องรุ่นล่าสุดมีความละเอียดกี่ล้านพิกเซลแล้ว หรือมีฟังก์ชันแต่งรูปฟรุ้งฟริ้งใส่มาให้บ้างแล้วหรือยัง แต่ผมจะมาพูดถึงกล้องบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในอนาคตที่บูรณาการเอากล้องดิจิตอลเข้ากับเทคโนโลยีการวิเคราะห์และเข้าใจภาพ หรือที่ภาษาวิชาการเรียกกันว่า คอมพิวเตอร์

วิทัศน์ (Computer Vision)

ผมขออธิบายสักนิดนะครับว่าคอม พิวเตอร์วิทัศน์คืออะไร คือ โดยปกติแล้วสมาร์ทโฟนของเรามีกล้องติดอยู่ก็จริง ถ่ายภาพได้ก็จริง แต่ในภาพที่ถ่ายนั้นมีใครหรืออะไร อยู่ที่ตรงไหนหรือยังไงบ้าง สมาร์ทโฟนจะไม่รู้และตอบเราไม่ได้เลยสักอย่างใช่ไหมครับ ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง เพราะมนุษย์เรานอกจากจะมองเห็นได้เหมือนกล้องแล้ว ยังมีสมองที่สามารถวิเคราะห์รู้และแปลความได้ด้วยว่าในภาพนั้นมีอะไรอยู่บ้าง และความพยายามที่จะทำให้กล้องมีมันสมอง สามารถวิเคราะห์ตีความรูปภาพได้เหมือนกับที่มนุษย์เราทำได้นี่ล่ะครับคือ ศาสตร์แห่งคอมพิวเตอร์วิทัศน์ ตัวอย่างความสามารถเล็ก ๆ อย่างหนึ่งของคอมพิวเตอร์วิทัศน์ที่ถูกใช้ในกล้องดิจิตอลหลาย ๆ รุ่น ก็เช่น ระบบการโฟกัสและติดตามใบหน้าคนอัตโนมัตินั่นล่ะครับ

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ศาสตร์ของคอมพิวเตอร์วิทัศน์ทวีความสำคัญมากขึ้นไปพร้อม ๆ กับบทบาทของกล้องดิจิตอลที่มีมากขึ้น มีโครงการวิจัยดัง ๆ ของคอมพิวเตอร์วิทัศน์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ โปรเจคท์แทงโก้ (Project Tango) ของบริษัทกูเกิล ซึ่งออกมาเป็นรูปเป็นร่างและประกาศตัวไปเรียบ ร้อยแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้องบอกก่อนนะครับว่าชื่อโปรเจคท์ Tango นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชั่น Tango สำหรับใช้สนทนากันที่มีขายอยู่บนเพลย์สโตร์แต่อย่างใด แต่เป็นโปรเจคท์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่มีความอัจฉริยะในด้านของการมองเห็นที่มีมันสมองจากศาสตร์คอมพิวเตอร์วิทัศน์ และเป็นส่วนหนึ่งของ Advanced Technology and Projects หรือ ATAP ของกูเกิล ที่ทีมนักวิจัยมาจากการซื้อกิจการของโมโตโรล่านั่นเอง

ถ้าพูดถึงแผนที่กูเกิลหรือ Google Map แล้วผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนรู้จักและใช้มันอยู่เป็นประจำ จะดูแผนที่แบบ 2 มิติหรือ 3 มิติก็ได้ จะใช้นำทางจากที่ไหนไปที่ไหนก็ได้ แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีข้อจำกัดว่ามีเฉพาะแผนที่และการนำทางภายนอกตัวอาคารเท่านั้น แต่โปรเจคท์แทงโก้ของกูเกิลนี่ล่ะครับ ที่จะช่วยต่อยอดแผนที่ให้เข้ามาสู่ภายในตัวอาคารได้ ให้พวกเราเองสามารถสร้างแผนที่ 3 มิติและระบบนำทางได้ในตัวตึกที่ทำงานของเรา ในบ้านของเรา หรือแม้แต่ในห้องส่วนตัวของเรา โดยเป้าหมายของโปรเจคท์แทงโก้นี้ คือ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ที่ประกอบด้วยกล้อง 2 ตัว แสงอินฟราเรดและเซ็นเซอร์อินฟราเรดสำหรับวัดความลึก รวมถึงชิพประมวลผลสำหรับคอมพิวเตอร์วิทัศน์ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าในเวอร์ชั่นของแท็บเล็ต กูเกิลจะทำออกมาในขนาดหน้าจอ 7 นิ้ว

โดยการใช้งานนั้นก็เพียงแค่นำกล้องบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของโปรเจคท์แทงโก้ส่องไป ระบบก็จะทำการวิเคราะห์และสร้างแผนที่ 3 มิติของสิ่งแวดล้อมตรงหน้าออกมาได้ทันที ซึ่งผลที่ได้ไม่ใช่แค่รูปภาพ 2 มิติแบน ๆ เหมือนกล้องธรรมดานะครับ แต่เป็นแบบจำลอง 3 มิติที่พ่วงความสามารถวิเคราะห์ภาพมาให้ด้วย ทำให้สมาร์ทโฟนสามารถรู้ได้ด้วยว่าในแบบจำลองนี้มีอะไรอยู่ที่ตรงไหนบ้าง สามารถนำมาต่อยอดสร้างเป็นระบบนำทาง 3 มิติภายในตัวอาคารได้ เรียกว่า เป็นโปรเจคท์ที่ใช้องค์ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์วิทัศน์ 3 มิติแบบเต็ม ๆ เลยล่ะครับ

โปรเจคท์แทงโก้นี้ ทางกูเกิลได้เฟ้นหานักพัฒนาระบบและผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์วิทัศน์มาเป็นจำนวนมากถึง 4,000 คนจากทั่วโลกเลยทีเดียวครับ ซึ่งความท้าทายที่สุดของทีมวิจัยนี้ คือ การที่กูเกิลต้องการให้แทงโก้มีความเร็วในการประมวลผลเป็นไปอย่างทันทีหรือที่เรียกว่า Real Time ครับ ถ้าคุณผู้อ่านเคยเล่นเกม 3 มิติที่ภาพสวย ๆ หรือเคยใช้โปรแกรมที่ทำงานกับภาพ 3 มิติมาบ้าง คุณผู้อ่านก็คงจะทราบดีว่าถ้าไม่ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มีตัวประมวลผลและการ์ดจอแรง ๆ แล้วล่ะก็ การประมวลผลขนาดมหาศาลของแบบจำลอง 3 มิติจะทำให้เกิดอาการภาพกระตุกบ้าง คอมพ์อืดบ้าง แล้วนี่ถ้ามาทำบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่มีตัวประมวลผลเล็กกว่ามากแล้วล่ะ มันจะเป็นยังไง? ถือเป็นความท้าทายที่น่าจับตามองสำหรับกูเกิลในการสร้างโปรเจคท์แทงโก้นี้เลยล่ะครับ

ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านหลายคนอาจจะยังคิดว่าเทคโนโลยีแผนที่ 3 มิติอย่างในโปรเจคท์แทงโก้นี้ดูจะเป็นอะไรที่เกินความจำเป็น มีไว้ก็ไม่รู้จะได้ใช้หรือเปล่า แต่อย่าลืมนะครับว่าในอดีตกล้องติดในโทรศัพท์มือถือก็เคยถูกมองว่าเป็นแค่ลูกเล่นเสริมที่สิ้นเปลือง ไม่มีความจำเป็น มีไว้เพื่อเพิ่มราคาให้โทรศัพท์มือถือมาก่อนเหมือนกัน เพราะโลกเทคโนโลยีของเราหมุนด้วยอัตราเร่งอยู่ตลอดเวลา คนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้ก่อน และสามารถนำมาบูรณาการต่อยอดเข้ากับจินตนาการเจ๋ง ๆ ได้ก่อน ก็จะเป็นคนที่คว้าโอกาสในการสร้างนวัตกรรมสุดยอด ๆ ออกมาได้ก่อนเช่นกัน ในโลกไร้พรมแดนนี้ไม่ว่าใครก็สามารถกระโดดเข้าร่วมการแข่งขันอย่างเสรีและสร้างสรรค์นี้ได้ ขอเพียงตั้งใจ กล้าที่จะคิด กล้าที่จะลงมือทำ ผมเชื่อว่าคนไทยเราก็มีโอกาสดีไม่น้อยไปกว่าใครในการร่วมไขว่คว้าโอกาสนี้ครับ.

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต

chutisant.k@rsu.ac.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 9 กรกฎาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”