Page 1 of 1

ชวนกันอธิษฐานพรรษา สร้างบารมีแห่งการตื่นรู้

Posted: 09 Jul 2014, 13:29
by brid.siriwan
ชวนกันอธิษฐานพรรษา สร้างบารมีแห่งการตื่นรู้


ทุกวันนี้สังคมโลก สังคมไทยมีแต่ความสับสนวุ่นวาย ความเคลือบแคลง สงสัย ความไม่ไว้วางใจ ซึ่งล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ไม่เพียงเท่านั้นเวลานี้คนไทยกำลังเรียกร้องโหยหาความรัก ความสามัคคี ปรองดองและสมานฉันท์อย่างยิ่งยวด จึงทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เราควรจะเตรียมตัว เตรียมใจ จัดการกับตัวเองและต้องวางท่าทีของจิตอย่างไร เพื่อให้การดำรงอยู่ของชีวิตไม่เป็นทุกข์

หลายต่อหลายคนบอกว่าให้ทำดีที่สุดแต่ไม่ทราบว่าอะไรคือทำดีที่สุด บ้างก็ว่าให้เฉยซะ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยบอกให้เข้าวัด เข้าสถานปฏิบัติธรรม ไปปฏิบัติธรรม ไปฝึกจิต ไปนั่งสมาธิ ใช้ธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และอีกสารพัดวิธี

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน ได้ให้คำแนะนำว่า ให้ลองมาใช้กาละที่กำลังจะมาถึง คือ วันอาสาฬหบูชา กับวันเข้าพรรษา เป็นวิถีธรรมที่จะทำให้เราเป็นชาวพุทธที่ก้าวหน้าขึ้น เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเราจะมาหวาดระแวงกันและกัน เพราะ “ใจ” คือบ้านหลังในก็ไม่สงบ ขณะที่โลกภายนอกก็วุ่นวาย ก็อยากให้เราซึ่งเป็นชาวพุทธได้ชวนกันมาปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานธรรมครั้งแรก “ธัมมจักกัปป วัตนสูตร” ที่แสดงให้เห็นว่า เกิดขึ้นก็เป็นธรรมดา ดับไปก็เป็นธรรมดา การเกิดดับเป็นของธรรมดา

ส่วน วันเข้าพรรษา ก็อยากเชิญชวนให้มา “อธิษฐานพรรษา” กัน อย่าคิดว่าการเข้าพรรษาเป็นเรื่องของนักบวชเท่านั้น เพราะพรรษาแปลว่าฤดูฝน การเข้าพรรษาก็คือเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนอธิษฐานคือตั้งใจมั่นที่จะทำให้สำเร็จ เพราะฉะนั้นอธิษฐานพรรษาก็คือการตั้งใจมั่นที่จะทำให้เกิดความดีงามในช่วงฤดูฝนนี้ให้สำเร็จให้ได้ โดยให้ลองมาคิดว่าอะไรที่เป็นข้อด้อยของเรา เราก็มาตั้งจิตแก้ไข อะไรเป็นจุดอ่อนก็มาฝึกเอาออกไป อะไรเป็นจุดแข็งก็เพียรให้มากขึ้น เช่น ถ้าเราชอบโกหก เราก็มาอธิษฐานว่าจะไม่โกหก ถ้าเป็นคนขี้โมโหก็จะโมโหน้อยลง ถ้าเป็นคนถือทิฐิไม่ค่อยให้อภัยใครก็ต้องให้อภัยกันมากขึ้น ถ้าเราเกลียดกันอยู่ก็พยายามลดระดับเอาแค่พอเคือง ๆ แล้วมาพัฒนาจิตใจเราและพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น เราก็จะไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเข้าพรรษานี้ก็ขอเชิญชวนให้เราชวนชาวพุทธมาอธิษฐานพรรษา ลดจุดด้อย เพิ่มจุดแข็งและรักษาใจของเราให้ทรงไว้ซึ่งความเป็นปกติ มีกายกรรม มโนกรรม และวจีกรรมสุจริต อยู่ในทุกคำพูด ทุกการกระทำและทุกความคิด

“ชวนกันอธิษฐานพรรษา ให้อยู่บนหนทางแห่งการตื่น เรามาทำให้เข้าพรรษานี้มีอธิษฐานบารมีที่จะเดินทางอยู่บนหนทางการตื่น สังคมของมนุษย์ที่มีความตั้งใจที่จะละชั่วทำดี รักษาใจให้ขาวลอก ก็จะทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ร่วมกันได้ง่าย เรามาปฏิวัติตัวเรากันทุกคน ในยุคที่เรากำลังต้องการความสามัคคีก็ควรมีสามัคคีธรรม สามัคคีกันด้วยธรรม โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน” แม่ชีศันสนีย์ กล่าว

พูดถึงการแสดงธรรมครั้งแรกของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” นั้น มีหลักสำคัญ 2 ประการ คือ

1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ ไม่ใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่างหรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ อัตตกิลมถานุโยค หรือการสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด และกามสุขัลลิกานุโยค หรือการหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้จึงต้องใช้ทางสายกลางในการดำเนินชีวิต วันพุธ 9 กรกฎาคม 2557 เวลา 00:00 น.โดยมีหลักปฏิบัติเป็น 8 ประการ หรือมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

2. อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐของอริยะหรือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่ 1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด 2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ 3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา และ 4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าว

ว่ากันว่า “ทุกข์มีไว้ให้เห็นไม่ได้มีไว้ให้เป็น” เพราะฉะนั้นถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ได้ อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา น่าจะหาคำตอบได้.

อรนชุ วานชิ ทววี ฒั น์

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 9 กรกฎาคม 2557