Page 1 of 1

“เตียงลดแผลกดทับ” ผลงานอาชีวะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอัมพาตสะดวก

Posted: 10 Jul 2014, 11:30
by brid.siriwan
“เตียงลดแผลกดทับ” ผลงานอาชีวะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอัมพาตสะดวก



คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
“เตียงลดแผลกดทับ” ผลงานอาชีวะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอัมพาตสะดวก

ปัญหาแผลกดทับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ป่วยอัมพาต ที่นอกจากสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วย แล้วยังนำไปสู่ปัญหาการติดเชื้อและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ นักศึกษาอาชีวะจากกำแพงเพชรพัฒนาเตียงผู้ป่วยอัมพาต ลดแผลกดทับ ใช้ผู้ดูแลน้อยและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยสะดวก โดยทำงานแค่เพียงกดปุ่มเลื่อนซ้าย-ขวา อนาคตจะพัฒนาให้เคลื่อนย้ายได้อัตโนมัติ


Get Flash Player


นายชัยมงคล เงินพจน์ นักศึกษา ปวส. ชั้นปี 2 วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร หนึ่งในทีมผู้พัฒนาเตียงผู้ป่วยอัมพาต เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เนื่องจากผู้ป่วยอัมพาตขยับตัวไม่ได้ จึงพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ โดยใช้คนน้อย เพราะปกติผู้ดูแลเพียงคนเดียวอาจไม่มีแรงพอที่จะพลิกตัวผู้ป่วยเพื่อป้องกันแผลกดทับได้ จึงได้พัฒนาเตียงที่อากาศระบายได้ดี

“ผลงานนี้ต่อยอดจากเตียงผู้ป่วยอัมพาตของรุ่นพี่ก่อนหน้า ซึ่งออกแบบให้มีการไหลเวียนของอากาศเพื่อลดแผลกดทับ โดยทำให้แผ่นกระดานใต้เตียงพลิกซ้าย-ขวาได้ ซึ่งทำงานด้วยการกดปุ่มคำสั่งพลิกซ้าย-ขวา โดยรุ่นล่าสุดออกแบบให้มีแขนยกเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ แต่ยังต้องใช้แรงคนยก ซึ่งอนาคตเราจะพัฒนาให้สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะจำนวนผู้ดูแลผู้ป่วยเหลือเพียงคนเดียวได้” นายชัยมงคลกล่าว

ด้าน นายสมคิด สมนักพงษ์ หัวหน้าแผนกวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทีมพัฒนาเตียงผู้ป่วยอัมพาต เผยว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเตียงดังกล่าว เริ่มจากมีญาติผู้ป่วยอัมพาตมาปรึกษาถึงปัญหา และอยากให้มีการออกแบบอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นอัมพาต ซึ่งทางวิทยาลัยมีวิชาโครงงานพอดีจึงให้แนวคิดนักศึกษาในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์นี้มาตั้งแต่ปี 2551 และได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงรุ่นปัจจุบันที่สามารถพลิกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้

“ในอนาคตยังมีผลงานเพื่อผู้ป่วยอัมพาตอื่นๆ อีก อาทิ ถุงนอนที่ผู้ป่วยสามารถนอนอาบน้ำได้ โดยคล้ายการทำงานของเครื่องซักผ้า และการพัฒนาระบบนวดตัวสำหรับผู้ป่วยอัมพาตที่ทำงานคล้ายเก้าอี้นวด” นายสมคิดเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

สำหรับผลงานเตียงผู้ป่วยอัมพาตของนักศึกษาอาชีวะจากกำแพงเพชรนี้ เพิ่งได้รับรางวัลดีเยี่ยม ในโครงการส่งเสริมการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา ประจำปี 2557 ภูมิภาค ภาคเหนือ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อวันที่ 7-8 ก.ค 57 ณ ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และงานวิจัยที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดใช้ได้จริง ให้แก่อาจารย์และนักเรียนอาชีวศึกษา และทำให้เด็กอาชีวะเห็นคุณค่าของงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาจากระดับภูมิภาคสู่ระดับประเทศ โดย วช.จะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งมั่นคง และเพิ่มโอกาสในเชิงพาณิชย์ เป็นการต่อยอดอาชีวะให้มีทั้งฝีมือและความคิด โดยภายในงานมีผลงานร่วมประกวดและจัดแสดงทั้งสิ้น 60 ผลงาน

นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลและน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ มือกลช่วยคนพิการ ที่มีลักษณะคล้ายมือหุ่นยนต์ทำจากโลหะน้ำหนักเบา สามารถขยับนิ้วหยิบจับสิ่งของได้โดยใช้กลไกตอบสนองต่อความรู้สึกจากเส้นเอ็น โดยวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย ได้รับรางวัลเกียรติคุณในการประกวด โดยในอนาคตจะพัฒนารูปลักษณ์ภายนอกให้มีลักษณะเหมือนมือคนจริงๆ เครื่องกรองน้ำภาคสนามอเนกประสงค์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก เครื่องผลิตน้ำดื่มสะอาดในภาวะอุทกภัยโดยอาศัยกลไกการกรองด้วยแรงดัน

"สิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นสามารถนำมาใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และใช้งานจริงในชุมชนได้ เพราะเป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีใหม่ๆ บวกกับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน" ดร.มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าว

ภายในงานดังกล่าวยังจัดแสดงผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสาหร่ายเตา และผลิตภัณฑ์เวชสำอางไบโอเจลจากสาหร่ายไก ที่เป็นการต่อยอดงานวิจัยนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ โดยผลิตภัณฑ์ไบโอเจลจากสาหร่ายไก เป็นผลงานนวัตกรรมที่เพิ่มการบำรุงความชุ่มชื้นให้กับผิวหน้า และลดเรือนริ้วรอยก่อนวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับรางวัล Silver Prize จาก Korea Woman Inventors Association (KIWIA) ในการเข้าร่วมแข่งขันการประกวดผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์สตรีในงานระดับนานาชาติ ประจำปี 57

ผศ.ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าของงานวิจัยกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า แรงบันดาลเกิดจากเครื่องสำอางยี่ห้อดังในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสที่ใช้สารสกัดจากสาหร่ายทะเล ซึ่งอาจารย์เคยศึกษามาก่อนที่จะมาศึกษาสาหร่ายน้ำจืด แต่อาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ จึงเป็นไปได้ยากที่จะหาสาหร่ายทะเลมาทำวิจัย จึงมองหาของใกล้ตัวมาเพิ่มมูลค่า นั่นคือสาหร่ายน้ำจืด ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพไม่แตกต่างกัน

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 10 กรกฎาคม 2557