Page 1 of 1

ปลดหนี้ได้ด้วยเกษตรผสมผสาน - เกษตรทั่วไทย

Posted: 10 Jul 2014, 14:15
by brid.siriwan
ปลดหนี้ได้ด้วยเกษตรผสมผสาน - เกษตรทั่วไทย

แต่ก่อนทำพืชเชิงเดี่ยว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จลงทุนไปก็ขาดทุน หมดไปเป็นหมื่น ๆ ปลูกมะขามหวาน มะม่วง ขาดทุนรายได้จากการขายผลผลิตน้อยกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ก็หันมาเลี้ยงปลา ก็ขาดทุนอีก

นายประพันธ์ ศรีสุวรรณ เกษตรกรทฤษฎีใหม่ จากบ้านนาสาร ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เป็นอีกหนึ่งของเกษตรกรที่หันมายึดแนวทางการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ร่วม 18 ปี จนวันนี้มีกินมีใช้ไม่ขัดสนแม้ภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศจะผันแปรไปในทิศทางใดก็ตาม

“แต่ก่อนทำพืชเชิงเดี่ยว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จลงทุนไปก็ขาดทุน หมดไปเป็นหมื่น ๆ ปลูกมะขามหวาน มะม่วง ขาดทุนรายได้จากการขายผลผลิตน้อยกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ก็หันมาเลี้ยงปลา ก็ขาดทุนอีก เพราะต้องจ่ายทุกอย่างตั้งแต่พันธ์ุปลาที่นำมาเลี้ยง อาหารปลา แต่เวลาเอาปลาไปขายกลับขายไม่ได้ และที่ขายได้บ้างก็ไม่มีราคา ก็หมดทุนอีกเพราะมีความคิดแบบเอาเงินเป็นตัวตั้งก่อนทำการผลิต” เกษตรกรทฤษฎีใหม่ บ้านนาสารกล่าว

นายประพันธ์บอกต่อว่าที่หันมาเลี้ยงปลาในตอนนั้นด้วยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนงานราชการที่ส่งเสริมการเลี้ยงปลามาบอกว่าถ้าปล่อยปลาลงบ่อ 10,000 ตัวขายได้ตัวละ 10 บาท เป็นเงินเท่าไหร่พิจารณาดู คิดแล้วก็จะเป็นหลักแสนก็ตาสว่างขึ้นมาทันทีเพราะเห็นแต่เงินที่คิดว่าจะได้ แต่ไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลา เป็นการคิดแบบเอาตัวเลขว่าจะกำไรมาก่อน แต่ผลที่ออกมากลับตรงกันข้ามไม่เหมือนอย่างที่คิดไว้ เพราะในระหว่าง การเลี้ยงจะต้องมีรายจ่ายจากค่าใช้จ่ายมากมายในการเลี้ยงปลา ในที่สุดก็หมดทั้งปลาและทุน

“ก็หันกลับมาปรับพื้นที่ ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงปลาแบบอินทรีย์ คือไม่พึ่งสารเคมีใด เพราะปลูกเพื่อกินเองในครอบครัว ปลูกไม้ยืนต้นที่สามารถเอื้อกับพื้นที่เพื่อการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์รวมเวลา 18 ปี ที่การเกษตรแบบนี้วันนี้ไม่เป็นหนี้ใคร มีกิน มีเหลือ ที่สำคัญไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเลยตั้งแต่หันหลังให้กับการปลูกพืชและเลี้ยงปลาแบบเชิงเดี่ยว” นายประพันธ์ กล่าว

เกษตรกรทฤษฎีใหม่รายนี้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมด้วยว่า ช่วงที่หันกลับมาปลูกผักนั้นก็ทำกันเองภายในครอบครัวมีแรงงาน 2 คนคือตนเองกับแม่บ้าน หวังปลูกเพียงเพื่อให้มีกินภายในครอบครัวไม่ต้องไปหาซื้อจากตลาดเท่านั้น เพราะเงินทองของครอบครัวไม่มีแล้วแถมยังเป็นหนี้ติดตัวอยู่นับแสนอีกต่างหาก ปลูกระยะหนึ่งก็มีผักเหลือก็เอาออกไปขาย

“ในตอนแรกก็ขายไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีคนรู้จัก ช่วงนั้นคำว่าผักอินทรีย์ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะหันไปซื้อผักที่มีใบสวยก้านงาม ๆ ซึ่งต้องปลูกโดยใช้สารเคมีเท่านั้นจึงจะได้ผักสวยเช่นนั้น มาวันหนึ่งขายได้ 20 บาท ดีใจมากเพราะเป็นรายได้ที่เหลือจากกินภายในครอบครัว ต่อมาก็นำออกขายอีกก็เริ่มขายได้เพิ่มมากขึ้น สังคมเริ่มเข้าใจและมีผู้สนใจซื้ออย่างต่อเนื่อง ก็นำเงินที่ขายได้มาลงทุนเพาะปลูกพืชผักเพิ่มเติม ก็มี ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว พืชสวนครัวส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก” เกษตรกรผู้พลิกผันตัวเองจากหนี้ท่วมตัวมามีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียงในวันนี้กล่าว

จากการทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยยึดแนวทางการใช้ชีวิตแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือมีภูมิคุ้ม กันในการดำรงชีพ ไม่ลงทุนเกินความสามารถของตนเอง ไม่กู้เงินมาลงทุน จะลงทุนก็ต่อเมื่อมีผลกำไรและเพียงพอ แก่ค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว แม้จะขาดทุนในการเพาะปลูกที่ลงทุนไปก็ไม่เสียหายทั้งหมด ชีวิตก็จะยังยืนอยู่ได้ เพราะทุนเดิมยังอยู่

เกษตรกรรายนี้ได้น้อมนำพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทยนำไปปฏิบัติใช้เมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อหลายปีก่อน มาปฏิบัติใช้ จวบจนปัจจุบันครอบครัวมีความสุข มีกินมีใช้ เพียงพอจนสามารถส่งลูกได้เล่าเรียนจนจบมหาวิทยาลัย มีความมั่นคงในชีวิต ได้รับ การยอมรับจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและราษฎรในพื้นที่เดินทางไปศึกษาดูงานอย่าง ต่อเนื่อง

และล่าสุดก็ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น ด้านเกษตรผสมผสานของสำนักงาน กปร. ซึ่งได้รับรางวัลจาก นายอำพล เสนาณรงค์ องคมน ตรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ในงานการประชุมสัมมนา “เศรษฐกิจพอเพียง ทางออกประเทศไทย” ณ ห้องประชุม 101 สำนักงาน กปร.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 10 กรกฎาคม 2557