Page 1 of 1

สร้างทักษะ เปิดประสบการณ์ใหม่ สไตล์ “BU STARTUP PROJECT”

Posted: 11 Jul 2014, 10:59
by brid.siriwan
สร้างทักษะ เปิดประสบการณ์ใหม่ สไตล์ “BU STARTUP PROJECT”


“โครงการ บียู สตาร์ทอัพ โปรเจค” (BU STARTUP PROJECT) ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
สร้างทักษะ เปิดประสบการณ์ใหม่ สไตล์ “BU STARTUP PROJECT”
ช่วงเวลานำเสนอผลงาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมทุกวันนี้มีมีความต้องการหลากหลายมากขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาที่คนทำงานต้องมีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านนั้นๆ เพียงอย่างเดียว ทว่าในชีวิตการทำงานทุกวันนี้ องค์กรเอกชน ไม่ว่าจะเป็นห้าง ร้านค้า ใดก็ตามล้วนแต่ต้องการคนทำงานที่มีความรู้รอบด้าน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเก่งในทุกๆ ด้าน ขอเพียงมีความรู้ในด้านที่ตัวเองสนใจอย่างแท้จริง และควรจะต้องมีความรู้ด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เพื่อให้การทำงานสามารถลื่นไหลไปได้ ไม่ติดขัด ดังนั้นมหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงได้ริเริ่ม “โครงการ บียู สตาร์ทอัพ โปรเจค” (BU STARTUP PROJECT) ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

นายเพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่าในครั้งแรกที่ทดลองทำโครงการนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยการนำแคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” มาเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษาจาก 6 คณะได้เรียนรู้ร่วมกัน และนำความรู้ของแต่ละคนที่มีมาช่วยกันคิดวิธีการทำการตลาดที่จะตอบโจทย์ “หลงรักประเทศไทย” จากททท.ได้ โดนใจคณะกรรมการมากที่สุด ก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศไป

สำหรับที่มาที่ไปของโครงการบียู สตาร์ทอัพ โปรเจค นั้น ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่าจุดเริ่มต้นมาจากคณะนิเทศศาสตร์มองว่า ความต้องการคนทำงานของตลาดแรงงานเปลี่ยนไป ตลาดแรงงานต้องการคนทำงานที่มีความรู้รอบตัวไม่ใช่รู้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แบบ 360 องศา ซึ่งนักศึกษาจะต้องมีความรู้รอบด้านทั้งด้านวิชาการ วิธีการนำเสนอ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันอย่างสร้างสรรค์ เช่น แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ สื่อออนไลน์ต่างๆ

“โครงการนี้เราเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อมกราคมปี 2557 โดยนำนักศึกษา 83 คน จาก 6 คณะ (คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี, คณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว, คณะบริหารธุรกิจ, คณะนิเทศศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์) มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เขาได้แลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งแต่ละคนแต่ละคณะจะช่วยกันเสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อน ของกันและกัน ส่งผลให้เกิดผลงานที่โดดเด่นจากการทำงานเป็นทีมในที่สุด”

เนื่องจากนักศึกษามาจาก 6 คณะ ซึ่งมีความรู้แตกต่างกัน วิธีการเรียนนั้นจึงเป็นการเรียนรู้บนความท้าทาย (Challenge Based learning) เพื่อให้นักศึกษาสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ และที่สำคัญคือสามารถนำไปใช้ได้จริง

ดร.พีรยา กล่าวว่า การเรียนแบบให้นักศึกษาเข้าห้องเรียนตลอดทั้งภาคการศึกษาหรือประมาณ 15 สัปดาห์นั้น นักศึกษาอาจจะได้รับแต่ความรู้ แต่ความเข้าใจอาจจะน้อย จึงได้เพิ่มกิจกรรมเข้าไปในระหว่างการเรียนด้วยไม่ว่าจะเป็น 1.กิจกรรมละลายพฤติกรรม (บียู สตาร์ทอัพ แคมป์) เพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักกัน เข้าใจกันมากขึ้น 2.กิจกรรมให้นักศึกษาลงพื้นที่ชุมชน (ครีเอทีฟ เจอร์นี่ย์) เพื่อหาข้อมูลแท้จริงมาทำผลงาน 3.กิจกรรมสร้างเนื้อหาจากข้อมูลการลงพื้นที่ มาทำให้เกิดความน่าสนใจ (ครีเอทีฟ ทัวร์ริสซึ่ม) และ 4.กิจกรรมสุดท้ายคือการนำเสนอผลงานของตัวเองให้คณะกรรมการพิจารณา (ไฟนอล โปรเจค โชว์เคส)คัดเลือก และทีมที่ได้รับการคัดเลือกได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการในครั้งแรก และจะเริ่มโครงการฯ ครั้งที่สองในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

ส่วนวัตถุประสงค์ของโครงการฯ นั้น "กิตติศักดิ์ อภิเนตรสุรทัณฑ์ อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาในโครงการฯ กล่าวว่า โครงการบียู สตาร์ทอัพ โปรเจค ต้องการเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ให้กับนักศึกษาซึ่งจากโครงการในครั้งแรกเห็นได้ชัดว่านักศึกษาที่เข้าร่วมมีทักษะด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม และยังลดอัตตาของตัวเองลง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม และโครงการนี้ทำให้เห็นว่าการร่วมมือกันทั้งคณาจารย์ นักศึกษา นักวิชาชีพจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดสิ่งใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ทำให้ได้ผลงานที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ไม่ใช่เก็บไว้บนหิ้งอย่างที่ผ่านๆ มา

“ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศก็ไม่ใช่พวกเราตัดสินกันเอง เราได้รับเกียรติจากนักวิชาชีพมาเป็นคณะกรรมการตัดสิน อาทิ คุณอ้อยทิพย์ นิธิยานันท์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณอรสา โตสว่าง Market Intelligence Director บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณสหวัฎฎ์ ศรีหิรัญ โปรดิวเซอร์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี คุณพิชิต สุขไผ่ตา Managing Director จากบริษัทเอ็กซ์เทนเดอร์ จำกัด และคุณวทัญญู เจริญจิตต์ Senior Marketing Executive บริษัท I digital connect มาเป็นคณะกรรมการ นั่นแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนเองก็เห็นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างรอบด้านของนักศึกษา”

ขณะที่ นักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการฯ รุ่นแรก นายกิตติศักดิ์ คุณาฤทธิพล นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เผยว่า มาเรียนวิชานี้เพราะทางอาจารย์ในคณะแนะนำว่า มีวิชาที่เรียนรวมกับเพื่อนๆ หลายๆคณะ และจะได้ทำ Product ออกมา 1 ตัว เพื่อประกวดกัน ประกอบกับอยากลองร่วมงานกับเพื่อนๆ คณะอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จึงตัดสินใจเข้าร่วม และเมื่อได้เรียนจริงแล้ว ได้ร่วมวางแผนงาน ออกแบบงาน ถ่ายทำงาน วางแผนงบประมาณที่ได้มา และได้ลงพื้นที่จริงๆ เพื่อศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ว่ามีจุดเด่นอะไร และดึงจุดเด่นนั้นมานำเสนอผ่าน Application

เช่นเดียวกับ รุ่นน้อง “นายสิงหราช มีสิทธิ์” นักศึกษาชั้นปี 2 คณะเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ เอ่ยถึงสาเหตุที่เขาเลือกเรียนวิชานี้ว่า ผมคิดว่า จักรยานที่มีแต่โซ่ ล้อก็ไม่หมุน มันจะไม่สามารถเคลื่อนที่่ไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย หากขาดการรวมกันของอุปกรณ์ชิ้นสำคัญ ไม่ต่างจาก BU START UP PROJECT สุดยอดจินตนาการก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากขาดสมองกลจากทั้ง 6 คณะ และผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยากทำฝันให้เป็นจริง

“สิ่งที่ได้จากการเรียนวิชานี้คือ ได้เรียนรู้การทำงาน ร่วมกันกับเพื่อนๆหลายหลายคณะ ได้เรียนรู้วิชาต่างๆ ที่จำเป็นในการทำงานจริง โดยมีทีมอาจารย์และวิทยากรมืออาชีพมาบรรยายและทำ Workshop กันทุกสัปดาห์ อีกทั้งยังได้ลงมือผลิต Application กันจริงๆ โดยทุกคนในทีมจะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันปรับปรุง Application จนออกมาสมบูรณ์แบบ และใช้งานได้จริงครับ”

ด้านน้องใหม่ อย่าง “นายณัฐภัทร สิทธิ” นักศึกษาชั้นปี 1คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ บอกถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจากครั้งแรกจนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการว่า ต้องบอกตรงๆว่า ทีเเรกลังเลพอสมควร เพราะวิชานี้ต้องเรียนรวมกันทั้ง 6 คณะ เเละทั้ง 4 ชั้นปี แต่พอได้เข้ามาเรียนเเล้ววิชานี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

“สิ่งแรกที่ได้จากการเรียนวิชานี้ก็คือ " ประสบการณ์ " เพราะวิชานี้ไม่ใช่เเค่การเรียนในห้องเรียนเท่านั้น เเต่วิชานี้ยังมีช่วงเวลาให้นักศึกษาลงพื้นที่จริง ทำงานจริง กับสังคมและสิ่งเเวดล้อมจริง และสิ่งที่ติดตัวมาจากวิชานี้อีกอย่างนั่นก็คือ ความอดทน และการเเก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ครับ”

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 9 กรกฎาคม 2557