เปิด 8 ข้อเท็จจริง "ความเหลื่อมล้ำ"

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

เปิด 8 ข้อเท็จจริง "ความเหลื่อมล้ำ"

Post by brid.siriwan »

เปิด 8 ข้อเท็จจริง "ความเหลื่อมล้ำ"


รายได้เศรษฐี-นักการเมืองต่างคนจน “ฟ้ากับเหว”

สถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิด 8 ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำในไทย พบมีมากกว่าที่รายงานกันทั่วไปอย่างน้อย 25% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น 4 เท่าแต่รายได้ครอบครัวไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่าและคนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน เผยทรัพย์สินนายกรัฐมนตรีไทยสูงกว่าชนชั้นกลาง 9,000 เท่า ขณะที่ทรัพย์สินครอบครัว ส.ส.รวมกันมูลค่า 40,000 ล้านบาท เท่ากับทรัพย์สินเกือบ 2 ล้านครอบครัวไทยรวมกัน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยว่า ทางสถาบันฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของคนไทย จึงได้จัดทำซีรีส์งานศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และผลงานชิ้นล่าสุดคือ “8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย” ซึ่งค้นพบ ข้อที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ดีขึ้นเลย จาก 25 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า แต่รายได้ส่วนที่ตกถึงครอบครัวไทยนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่า และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนในแต่ละช่วงรายได้ก็เพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน

“ปี 2529 ครอบครัวที่จนสุด 10% มีรายได้เฉลี่ย 1,429 บาทต่อเดือน ครอบครัวรวยสุด 10% เคยรายได้เฉลี่ยที่ 28,808 บาทต่อเดือน ผ่านมา 25ปี รายได้ครอบครัวรวยที่สุดโตขึ้น 3 เท่า เพิ่มเป็น 90,048 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้ของครอบครัวจนที่สุดที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 3 เท่า มีรายได้เฉลี่ยราวเดือนละ 4,266 บาท ขึ้นตามกลุ่มรายได้สูงไม่ทัน”

2.กลุ่มใหญ่ที่สุดในครอบครัวคนจน คือ ครอบครัวที่มีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ใช่เกษตรกรอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป โดยครอบครัวคนชราที่มีอยู่ราว 40% มีรายได้หลักมาจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ รองลงมาอีก 25% เป็นครอบครัวเกษตรกร อีกราว 6% เป็นครอบครัวอาชีพอิสระอย่างพ่อค้า แม่ค้า และในกลุ่มครอบครัวจนที่สุดมี 44% เป็นคนอีสาน อีก 30% อยู่ในภาคเหนือ คนกรุงเทพฯ น้อยมากเพียง 2% ส่วนกลุ่มครอบครัวรวยที่สุดเป็นครอบครัวประกอบอาชีพเฉพาะทางอย่าง หมอ หรือวิศวกร คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% อีก 12% เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นเถ้าแก่ ที่สนใจคือราว 9% ของกลุ่มครอบครัวร่ำรวยเป็นเกษตรกรจากภาคใต้ แสดงว่าเกษตรกรไม่จำเป็นต้องจนเสมอไป

3.เกือบครึ่งของครอบครัวไทยมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้ครอบครัวเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 23,000 บาท/เดือน แต่รายได้ที่ครอบครัวกลุ่มใหญ่ที่สุดราว 1.1 ล้านครอบครัวได้รับนั้นอยู่ที่ราว 7,000-8,000 บาทต่อเดือน 4.ความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงนั้นยิ่งแย่กว่าที่รายงานทั่วไปอย่างน้อย 25% โดยข้อมูลที่ใช้กันทั่วไปมาจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อนำรายได้ครัวเรือนมารวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านล้านบาท แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการประมาณการรายได้ครัวเรือนทั้งประเทศเพื่อนำมาประมาณการจีดีพี พบรายได้ครัวเรือนไทยสูงถึง 7.3 ล้านล้านบาท แตกต่างกันเกือบ 1 ล้านล้านบาท และหายไปราว 14% ของรายได้ครัวเรือนจากการสำรวจ

นอกจากนั้น การสำรวจไม่ได้ให้ภาพที่ครบถ้วนของฐานะการเงินครอบครัวคนรวย เห็นได้จากข้อมูลนิตยสาร Forbe รวบรวมมูลค่าทรัพย์สินของ 50 มหาเศรษฐีไทย สูงถึง 52,000 ล้านบาท รวยกว่าครอบครัวรวยที่สุดที่สำรวจมาซึ่งมีสินทรัพย์ 200 ล้านบาท ถึง 250 เท่า ขณะที่วารสารการเงินธนาคาร ระบุผู้ได้รับเงินปันผลหุ้นมากที่สุด 50 อันดับแรกเฉลี่ย 190 ล้านบาทต่อปี ทำให้ความแตกต่างระหว่างกลุ่มจนที่สุด 20% และรวยที่สุด 20% เพิ่มขึ้นจาก 11 เท่าเป็น 14 เท่าหรือกว่า 25% และด้วยตัวเลขใหม่นี้จะทำให้อันดับความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเมื่อเทียบกับ 157 ประเทศทั่วโลกยิ่งแย่ลงไปอีก คือ จากเดิมอยู่ที่อันดับ 121 จะตกไปอยู่ที่ลำดับ 135 ใกล้เคียงสวาซิแลนด์ และเอลซัลวาดอร์ 5.ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก คือ อันดับ 162 จาก 174 ประเทศ

6.ทรัพย์สินเฉลี่ยของครอบครัวสมาชิกสภาราษฎร (ส.ส.) รวยกว่าอีก 99.999% ของครอบครัวไทย โดยทรัพย์สินรวมของ ส.ส. 500 ครอบครัวมารวมกันเท่ากับ 40,000 ล้านบาท มากพอๆกับทรัพย์สินของ 2 ล้านครอบครัวรวมกัน ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีไทยสูงกว่าคนที่มีทรัพย์สินสุทธิอยู่กึ่งกลางถึง 9,000 เท่า ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอินเดียที่ต่างกัน 2,000 เท่า ฟิลิปปินส์ 600 เท่า อังกฤษ 50 เท่า ซึ่งการที่ผู้กำหนดนโยบายมีฐานะไม่ใกล้เคียงประชาชนส่วนใหญ่ที่พวกเขาเป็นตัวแทน นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ถูกแก้ไข

7.นอกจากรายได้และสินทรัพย์ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ของคนร่ำรวยที่มีโอกาสมากกว่าคนยากจน ดูได้จากคะแนน PISA ซึ่งประเมินผลสอบนานาชาติ ที่วัดกับเด็ก 15 ปีทั่วประเทศ พบว่าเด็กจากครอบครัวรวยที่สุด 20% มีโอกาสผ่านเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยวิชาเลขมากกว่าเด็กจากครอบครัวจนที่สุด 10% กว่า 2 เท่า 8.ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่ควรแก้ คือความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนรายได้เท่ากัน แต่สิ่งที่ต้องทำและทำได้คือ จะต้องทำให้คนมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้นในการยกระดับรายได้ตัวเอง.

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 5 เม.ย 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”