Page 1 of 1

ผลวิจัยพบทายาทต่างด้าวในไทยนับแสนคน

Posted: 11 Jul 2014, 16:27
by brid.siriwan
ผลวิจัยพบทายาทต่างด้าวในไทยนับแสนคน

ผลวิจัยชี้ทายาทต่างด้าว 1.4 แสนคนเกิดในไทย ถีบตัวเป็นเถ้าแก่ ผู้รับเหมาทาสี-ช่างไม้รายย่อย แนะรัฐสำรวจจำนวนให้ชัด พร้อมแก้ กม.เปิดช่องทำงานฝีมือได้ ดึงร่วมพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. น.ส.ขวัญชีวัน บัวแดง อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)เปิดเผยถึงการวิจัยเรื่อง “การปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรมของทายาทรุ่นที่ 2 ของแรงงานย้ายถิ่นในประเทศไทย” ว่า งานวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาลูกของแรงงานข้ามชาติและชนกลุ่มน้อยซึ่งไร้สัญชาติ ที่อพยพเข้ามาอยู่หรือทำงานในไทยตั้งแต่ปี 2523 รวมทั้งผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือย้ายมาตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปี ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก สมุทรสาคร และระนอง ในช่วงเดือน ส.ค.2552 -ต.ค.2553 ทั้งนี้โดยภาพรวมพบว่าตัวเลขทายาทรุ่นที่ 2 ที่เป็นทางการ ทั้งแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา รวมทั้งชนกลุ่มน้อยซึ่งไร้สัญชาติ มีจำนวน 143,309 คน และเด็กกลุ่มนี้ได้เข้าโรงเรียนของรัฐบาลไทยเฉพาะสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 78,088 คน และโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยองค์การเอกชนในลักษณะของศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งเฉพาะที่ จ.ตาก มีมากที่สุดถึง 61 ศูนย์มีเด็กจำนวน 10,812 คน

น.ส.ขวัญชีวัน กล่าวอีกว่า ผลวิจัยด้านการศึกษาของทายาทรุ่นที่ 2 ยังพบว่าเด็กจำนวนไม่น้อย ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐหรือเอกชน เนื่องจากโรงเรียนรัฐมีเด็กไทยเรียนอยู่จำนวนมากแล้ว จึงไม่ต้องการรับเด็กต่างชาติเพิ่ม และโรงเรียนของผู้อพยพมีจำนวนไม่มากพอ ขาดแคลนทุนการศึกษา โรงเรียนอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัยของแรงงาน อีกทั้งแรงงานข้ามชาติมีการเปลี่ยนสถานที่ทำงานบ่อยและให้ลูกติดตามไปด้วย ไม่มีเงินค่าเล่าเรียนและให้อยู่ดูแลน้อง ช่วยทำงานบ้านหรืองานรับจ้างจนกว่าจะทำงานได้เต็มตัว ขณะที่โรงเรียนรัฐของไทยไม่ได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ รวมทั้งข้อจำกัดในการออกวุฒิการศึกษาของโรงเรียนให้แก่เด็กต่างชาติ ทำให้มีปัญหาในการเรียนต่อและสมัครงาน

“ปัญหาด้านอาชีพพบว่า มีข้อจำกัดจากกฎหมายไทยที่กำหนดให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้เพียง 2 ประเภท คืองานกรรมการและรับใช้ในบ้าน แต่ความเป็นจริงแม้มีข้อจำกัดด้านการศึกษาก็ยังมีทายาทของแรงงานข้ามชาติและชนกลุ่มน้อยซึ่งไร้สัญชาติที่เรียนในระบบ และมีวุฒิการศึกษาถึงอุดมศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถทำงานในระดับฝีมือหรือใช้สมองได้ แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้บางคนถูกปฏิเสธการจ้างงานในระดับสูง เราจึงสูญเสียการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าไป หรือเกิดการลักลอบทำงานโดยนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างอัตราเดียวกับคนไทย และแรงงานข้ามชาติยังได้เลื่อนสถานภาพสูงขึ้น เช่น จากแรงงานรายวันเป็นผู้รับเหมาขนาดเล็ก เช่น ช่างสี ช่างไม้ หรือจากแรงงานล้างจานในร้านอาหาร เป็นผู้ช่วยทำอาหารหรือเป็นเจ้าของกิจการเอง หรือเป็นพ่อค้าแม่ค้า” น.ส.ขวัญชีวัน กล่าว

น.ส.ขวัญชีวัน กล่าวด้วยว่า จากผลวิจัยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยควรมีการจัดทำฐานข้อมูลด้านทายาทแรงงานย้ายถิ่น ทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและชาติ เพื่อให้ทราบจำนวนและเชื้อชาติ นำมาใช้วางแผนการพัฒนาด้านต่างๆ สร้างเวทีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรเอกชน และชุมชนทั้งระดับชาติ ภูมิภาคและท้องถิ่น ให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาแรงงานย้ายถิ่นและทายาท นอกจากนี้จะต้องวางยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาให้มีรูปแบบที่เหมาะสม การจ้างงานและใช้ศักยภาพของทายาทแรงงานข้ามชาติและชนกลุ่มน้อยซึ่งไร้สัญชาติที่เริ่มจบการศึกษาระดับสูงในแขนงต่าง ๆ มากขึ้น และวางยุทธศาสตร์และดำเนินการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทย กฎหมายและระเบียบแบบแผนการปฏิบัติในสังคมไทย รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่ง เสริมการศึกษา การพัฒนาท้องถิ่น แก้ไขปัญหาสังคมและการอยู่ร่วมกันของชุมชนไทยและแรงงานข้ามชาติและชนกลุ่มน้อยซึ่งไร้สัญชาติ.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 11 กรกฎาคม 2557