สังคมไทยกับจิตสำนึกสาธารณะ

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

สังคมไทยกับจิตสำนึกสาธารณะ

Post by brid.siriwan »

สังคมไทยกับจิตสำนึกสาธารณะ


จากการแชร์สะท้านเมืองโดยชาวเน็ต กรณีของสองสาวบนรถไฟฟ้าที่ไม่ยอมลุกให้พระภิกษุสงฆ์นั่งเก้าอี้ ทำให้เกิดคำถามมากมายในทำนอง ทำไมคนไทยในยุคนี้ถึงมีจิตใจคับแคบ หรือ ไร้น้ำใจกันมากขึ้น แล้วควรหรือไม่ที่ต้องสละพื้นที่ของตัวเองให้ผู้อื่น แก่คนแปลกหน้าที่อยู่ข้างหน้า และควรหรือไม่ที่ต้องเป็นคนคอยเรียกร้องความต้องการอยู่ตลอดเวลา

ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครหากจะต้องพบกับคำถาม “ทำไมคนไทยถึงไร้น้ำใจ” บนรถโดยสารหรือรถไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งคำถามดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นอยู่ทุกวี่ทุกวันให้เห็นตามบอร์ดสนทนาใหญ่ ๆ คำถามที่ตั้งขึ้นโดยส่วนใหญ่ของผู้ถามมักจะเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นศูนย์กลางเสมอและมักจะถามในทำนองว่า “ทำไมผู้ชายต้องลุกให้ผู้หญิงเสมอ” , “ทำไมผู้ชายถึงไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้หญิง” ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว คุณพร้อมไหมที่จะสละที่นั่ง ที่ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของตัวเองให้กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก มีความสุขหรือไม่ที่ต้องกระทำเช่นนั้น และคุณเคยถามคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า ทำไมตัวเองต้องได้นั่งอยู่ตลอดเวลา มีเหตุจำเป็นหรือไม่อันใดกันแน่

เพราะสังคมในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันเป็นสังคมที่ชอบตรวจสอบคนอื่น ไม่ยอมหันมาตรวจสอบตนเอง เวลาอยู่รวมกันในพื้นที่แคบ ๆ แน่นอนว่าทุกคนต่างรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า ทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกอคติลึกๆ อยู่ภายในจิตใจ พอได้รับสิ่งกระตุ้นทุกคนก็จะมองสิ่งนั้นในด้านลบออกมา นั่นหมายถึงพฤติกรรมที่ถูกตัดสินแล้วว่าไม่ดี ทั้งทีในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏให้เห็นไม่มีสิ่งในถูกหรือสิ่งไหนผิด และหลายครั้งเพราะคนไทยมีนิสัยขี้เกรงใจ เวลาอยู่รวมกันในที่หนึ่ง ๆ มักจะเกิดภาวะเกี่ยงงอนขึ้นเสมอ เพราะตัวเองไม่ต้องการที่จะกระทำสิ่งใดออกไปในเมื่อยังมีคนอื่นสามารถทำหน้าที่ตรงนั้นแทนได้

ทุกคนต้องเข้าใจบริบทของสังคมด้วยว่า ณ ตอนนั้นสภาพแวดล้อมในพื้นที่รอบกายเป็นอย่างไร บางครั้งหลายคนไม่อาจตอบสนองหรือไม่อาจสละพื้นที่ของตัวเองได้ เพราะปัจจัยรอบตัวไม่เอื้ออำนวย อย่างในกรณีของสองสาวนี้ ก่อนที่จะถูกกล่าวหาว่าไปแย่งที่ของพระสงฆ์ เราได้ตรวจสอบแล้วหรือไม่ว่าสองสาวดังกล่าวได้เห็นหรือรับรู้ว่ามีพระสงฆ์ท่านนั้นอยู่ในขบวนรถก่อนแล้วหรือไม่จึงเข้าไปแย่งที่นั่ง หรือสาวสองคนนั้นไม่เห็นพระสงฆ์จึงเข้าไปนั่งเพราะเข้าใจว่า เจ้าของที่นั่งก่อนหน้าได้สละที่นั่งให้ และในขณะเดียวกันหลังจากที่สองสาวได้นั่งเก้าอี้ไปแล้ว พร้อมกับเห็นว่ามีพระสงฆ์อยู่ใกล้ ๆ เราแน่ใจหรือไม่ว่าบุคคลที่อยู่ด้านข้างไม่ใช่สีกาอีกคนหนึ่ง เพราะโดยปกติของสงฆ์การอยู่ใกล้สีกาถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และสีกาก็ไม่สมควรที่จะเข้าใกล้พระสงฆ์โดยมิใช่เหตุ เพราะฉะนั้นพื้นที่ระหว่างของพระสงฆ์กับคนธรรมดาย่อมแตกต่างกันอยู่มาก

ดังนั้น การแก้ปัญหานี้จึงหาทางออกด้วยการรณรงค์เอื้อเฟื้อให้ที่นั่งแก่ เด็ก คนชรา สตรีมีครรภ์ และพระสงฆ์ ซึ่งทุกคนจะรับรู้ได้ว่ากลุ่มคนประเภทนี้สมควรได้รับการดูแลที่พิเศษ ส่วนผู้ชายและผู้หญิงก็ควรให้โอกาสกันและกันมากกว่าที่จะไปตัดสินคนอื่นว่ามีน้ำใจหรือไม่ เพราะการตัดสินคน ๆ หนึ่งไม่ได้ใช้เพียงแค่ตามอง หรือเพียงแค่มองตอนอยู่บนรถไฟฟ้าหรือบนรถประจำทาง แต่เราต้องมองถึงบริบทตั้งแต่ในอดีตตลอดจนถึงอายุปัจจุบัน และก็อย่าพยายามหาเหตุผลสารพัด เพื่อให้ตัวเองได้รู้สึกสบายใจและคอยโทษคนอื่นอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ได้มองที่ตนเองเลยซักครั้งว่าจำเป็นหรือไม่กับสิ่งที่ต้องการเพียงชั่วขณะหนึ่ง และมองด้วยหรือไม่ว่ามนุษย์อย่างเรา ๆ ก็เป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัวมากที่สุดของสปีชี่ส์หนึ่งในโลกนี้

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 14 ก.ค 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”